เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 7. นันทมาณวกปัญหา
[1085] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ย่อมไม่เรียกบุคคลว่า เป็นมุนี
เพราะได้เห็น ได้ฟังและได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี
[1086] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
เพราะศีลและวัตรบ้าง เพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น
ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[1087] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้นประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้นก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :760 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 7. นันทมาณวกปัญหา
[1088] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก
ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[1089] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราย่อมไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว1 เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแลชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว หมายถึงกำหนดรู้ตัณหาได้ด้วยปริญญา 3 อย่าง คือ (1) ญาตปริญญา กำหนด
รู้ขั้นรู้จัก คือรู้ว่า นี้คือรูปตัณหาเป็นต้น (2) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ พิจารณาตัณหาโดย
ความเป็นของไม่เที่ยง (3) ปหานปริญญา กำหนดรู้ขั้นละ คือ ละตัณหาให้ได้เด็ดขาด (ขุ.จู. (แปล) 30/51/210)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :761 }