เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 10. ทัณฑวรรค 11. สุขสามเณรวัตถุ
10. ปิโลติกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปิโลติกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[143] บุคคลผู้กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ มีอยู่น้อยคนในโลก
ภิกษุใดหลบหลีกนินทาได้ ตื่นตัวอยู่ เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้
ภิกษุเช่นนั้นมีอยู่น้อยรูป1
[144] เธอทั้งหลายจงมีความเพียรและมีสังเวคธรรม2
เหมือนม้าดีที่ถูกลงแส้ เธอทั้งหลายมีศรัทธา ศีล วิริยะ
สมาธิ และธัมมวินิจฉัย3
สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ มีสติมั่นคง
จักละทุกข์4มีประมาณไม่น้อยนี้ได้

11. สุขสามเณรวัตถุ
เรื่องสุขสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[145] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
ผู้มีวัตรดี5 ย่อมฝึกตน6
ทัณฑวรรคที่ 10 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดู สํ.ส. (แปล) 15/18/16
2 มีสังเวคธรรม แปลจากคำว่า “สํเวคิโน” หมายถึงมีสโหตตัปปญาณ คือ ญาณที่มีโอตตัปปะ ได้แก่ ญาณ
ที่มีความกลัวต่อภัยคือชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. 37/131)
3 ธัมมวินิจฉัย หมายถึงความรู้เหตุที่ควรและไม่ควร (ขุ.ธ.อ. 5/71)
4 ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏทุกข์ (ขุ.ธ.อ. 5/10/78)
5 ผู้มีวัตรดี ในที่นี้หมายถึงคนที่ว่าง่าย สอนง่าย (ขุ.ธ.อ. 5/82)
6 ขุ.เถร. (แปล) 26/19/310 และดูเทียบธรรมบทข้อ 80 หน้า 53 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :76 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 11. ชราวรรค 2. สิริมาวัตถุ
11. ชราวรรค
หมวดว่าด้วยความชรา
1. วิสาขาสหายิกาวัตถุ
เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงประมาณ 500 คน ดังนี้)
[146] เมื่อโลกลุกเป็นไฟ1อยู่เป็นนิตย์
ทำไมจึงมัวหัวเราะร่าเริงกันอยู่เล่า
เธอทั้งหลายถูกความมืด2ปกคลุม
ไฉนไม่แสวงหาดวงประทีป3กันเล่า

2. สิริมาวัตถุ
เรื่องนางสิริมา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท 4 ที่มุงดูศพนางสิริมา ดังนี้)
[147] จงดูอัตภาพที่ตกแต่งอย่างสวยงาม
แต่มีกายเป็นแผล4 มีกระดูกเป็นโครงร่าง5
อันกระสับกระส่าย ที่มหาชนดำริหวังกันมาก6
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

เชิงอรรถ :
1 โลกลุกเป็นไฟ หมายถึงโลกสันนิวาส (โลกคือหมู่สัตว์) ถูกไฟ 11 กอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส แผดเผาอยู่เป็นนิตย์ (ขุ.ธ.อ. 5/85) และดู วิ.ม. (แปล)
4/54/63, สํ.สฬา. (แปล) 18/28/27 ประกอบ
2 ความมืด หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. 5/85)
3 ดวงประทีป หมายถึงแสงสว่างคือญาณ (ขุ.ธ.อ. 5/85)
4 มีกายเป็นแผล หมายถึงมีทวาร 9 (ขุ.ธ.อ.5/90)
5 มีกระดูกเป็นโครงร่าง หมายถึงมีกระดูก 300 ท่อนเป็นโครงร่าง (ขุ.ธ.อ.5/90)
6 ดูเทียบ ม.ม. (แปล) 13/302/359, ขุ.เถร. (แปล) 26/769/468, 1160/530

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :77 }