เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 5. โธตกมาณวกปัญหา
[1067] นรชนใดในที่นี้เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดกิเลสเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว
เมตตคูมาณวกปัญหาที่ 4 จบ

5. โธตกมาณวกปัญหา1
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[1068] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
ศึกษาธรรม2เป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[1069] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) 30/86-93/18-20
2 ศึกษาธรรม หมายถึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.จู. (แปล) 30/31/159)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :754 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 5. โธตกมาณวกปัญหา
[1070] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ1 ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์
จากความสงสัยทั้งหลายเถิด
[1071] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใครๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้แจ้งธรรมอันประเสริฐ
ก็จะข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้
[1072] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่อาศัย2 เที่ยวไปอยู่

เชิงอรรถ :
1 ผู้สักกะ หมายถึงพระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล (ขุ.จู. (แปล) 30/32/163)
2 ไม่อาศัย หมายถึงไม่อาศัยในอารมณ์ไหน ๆ ด้วยทิฏฐิหรือตัณหา (ขุ.สุ.อ. 2/221/307)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :755 }