เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 10. ทัณธวรรค 9. สันตติมหามัตตวัตถุ
[139] (6) ต้องราชภัย1 (7) ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง
(8) เสื่อมญาติ (9) ทรัพย์สมบัติพินาศย่อยยับ
[140] (10) บ้านเรือนถูกไฟไหม้
เขาผู้มีปัญญาทราม เมื่อตายไปย่อมตกนรก

8. พหุภัณฑิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก ดังนี้)
[141] การเป็นคนเปลือย การเกล้าชฎา การเอาโคลนทาตัว
การอดอาหาร การนอนบนพื้นดิน
การมีกายหมักหมมด้วยธุลี
หรือการทำความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่ง
วัตรทั้งหมดเหล่านี้หาชำระคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้ไม่

9. สันตติมหามัตตวัตถุ
เรื่องสันตติมหาอำมาตย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[142] แม้บุคคลจะแต่งตัวแบบใดก็ตาม
ถ้าเขาเป็นผู้สงบ ฝึกตนได้ เป็นผู้แน่นอน2ประพฤติพรหมจรรย์
ละเว้นการเบียดเบียนสรรพสัตว์ ประพฤติสม่ำเสมอ
ควรเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า พราหมณ์ สมณะ หรือภิกษุ3 ก็ได้

เชิงอรรถ :
1 ต้องราชภัย หมายถึงการถูกถอดยศ ปลดจากตำแหน่ง เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 5/58)
2 สงบ หมายถึงสงบจากกิเลสมีราคะเป็นต้น
ฝึกตนได้ หมายถึงควบคุมอินทรีย์ทั้ง 6 ได้
เป็นผู้แน่นอน หมายถึงเป็นผู้แน่นอนในโลกุตตรมรรคทั้ง 4 (ขุ.ธ.อ. 5/68)
3 คำว่า “พราหมณ์ สมณะ ภิกษุ” ตามหลักการพุทธศาสนามีความหมายดังนี้ พราหมณ์ หมายถึง
ผู้ลอยบาปได้ สมณะ หมายถึงผู้สงบระงับบาปได้ ภิกษุ หมายถึงผู้ทำลายกิเลสได้ (ขุ.ธ.อ. 5/68)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :75 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 10. ทัณฑวรรค 11. สุขสามเณรวัตถุ
10. ปิโลติกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปิโลติกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[143] บุคคลผู้กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ มีอยู่น้อยคนในโลก
ภิกษุใดหลบหลีกนินทาได้ ตื่นตัวอยู่ เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้
ภิกษุเช่นนั้นมีอยู่น้อยรูป1
[144] เธอทั้งหลายจงมีความเพียรและมีสังเวคธรรม2
เหมือนม้าดีที่ถูกลงแส้ เธอทั้งหลายมีศรัทธา ศีล วิริยะ
สมาธิ และธัมมวินิจฉัย3
สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ มีสติมั่นคง
จักละทุกข์4มีประมาณไม่น้อยนี้ได้

11. สุขสามเณรวัตถุ
เรื่องสุขสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[145] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
ผู้มีวัตรดี5 ย่อมฝึกตน6
ทัณฑวรรคที่ 10 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดู สํ.ส. (แปล) 15/18/16
2 มีสังเวคธรรม แปลจากคำว่า “สํเวคิโน” หมายถึงมีสโหตตัปปญาณ คือ ญาณที่มีโอตตัปปะ ได้แก่ ญาณ
ที่มีความกลัวต่อภัยคือชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. 37/131)
3 ธัมมวินิจฉัย หมายถึงความรู้เหตุที่ควรและไม่ควร (ขุ.ธ.อ. 5/71)
4 ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏทุกข์ (ขุ.ธ.อ. 5/10/78)
5 ผู้มีวัตรดี ในที่นี้หมายถึงคนที่ว่าง่าย สอนง่าย (ขุ.ธ.อ. 5/82)
6 ขุ.เถร. (แปล) 26/19/310 และดูเทียบธรรมบทข้อ 80 หน้า 53 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :76 }