เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 10. ทัณธวรรค 7. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ
5. อุโปสถิกอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขาและหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล
ประมาณ 500 คน ดังนี้)
[135] คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ไล่ต้อนฝูงโคไปยังที่หากิน ฉันใด
ความแก่และความตาย ก็ไล่ต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น

6. อชครเปตวัตถุ
เรื่องเปรตงูเหลือม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[136] คนพาลมีปัญญาทราม เมื่อทำบาปกรรมย่อมไม่รู้สึกตัว
จึงมักเดือดร้อนเพราะกรรมของตน
เหมือนคนถูกไฟไหม้ ฉะนั้น

7. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[137] ผู้ใดประทุษร้ายคนที่ไม่มีความผิด1
(และ) คนที่ไม่ประทุษร้าย2 (ตอบ)ด้วยโทษทัณฑ์
ผู้นั้นย่อมได้รับผลอย่าง 1 ใน 10 อย่าง คือ
[138] (1) ทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า (2) เสื่อมทรัพย์
(3) ถูกทำร้ายร่างกาย (4) เจ็บป่วยอย่างหนัก
(5) กลายเป็นคนวิกลจริต

เชิงอรรถ :
1 คนที่ไม่มีความผิด หมายถึงพระขีณาสพผู้ปราศจากความผิดทางกาย เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 5/58)
2 คนที่ไม่ประทุษร้าย หมายถึงคนที่ไม่มีความผิดต่อผู้อื่น หรือต่อตนเอง (ขุ.ธ.อ. 5/58)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :74 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 10. ทัณธวรรค 9. สันตติมหามัตตวัตถุ
[139] (6) ต้องราชภัย1 (7) ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง
(8) เสื่อมญาติ (9) ทรัพย์สมบัติพินาศย่อยยับ
[140] (10) บ้านเรือนถูกไฟไหม้
เขาผู้มีปัญญาทราม เมื่อตายไปย่อมตกนรก

8. พหุภัณฑิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก ดังนี้)
[141] การเป็นคนเปลือย การเกล้าชฎา การเอาโคลนทาตัว
การอดอาหาร การนอนบนพื้นดิน
การมีกายหมักหมมด้วยธุลี
หรือการทำความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่ง
วัตรทั้งหมดเหล่านี้หาชำระคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้ไม่

9. สันตติมหามัตตวัตถุ
เรื่องสันตติมหาอำมาตย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[142] แม้บุคคลจะแต่งตัวแบบใดก็ตาม
ถ้าเขาเป็นผู้สงบ ฝึกตนได้ เป็นผู้แน่นอน2ประพฤติพรหมจรรย์
ละเว้นการเบียดเบียนสรรพสัตว์ ประพฤติสม่ำเสมอ
ควรเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า พราหมณ์ สมณะ หรือภิกษุ3 ก็ได้

เชิงอรรถ :
1 ต้องราชภัย หมายถึงการถูกถอดยศ ปลดจากตำแหน่ง เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 5/58)
2 สงบ หมายถึงสงบจากกิเลสมีราคะเป็นต้น
ฝึกตนได้ หมายถึงควบคุมอินทรีย์ทั้ง 6 ได้
เป็นผู้แน่นอน หมายถึงเป็นผู้แน่นอนในโลกุตตรมรรคทั้ง 4 (ขุ.ธ.อ. 5/68)
3 คำว่า “พราหมณ์ สมณะ ภิกษุ” ตามหลักการพุทธศาสนามีความหมายดังนี้ พราหมณ์ หมายถึง
ผู้ลอยบาปได้ สมณะ หมายถึงผู้สงบระงับบาปได้ ภิกษุ หมายถึงผู้ทำลายกิเลสได้ (ขุ.ธ.อ. 5/68)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :75 }