เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสูตร
[945] เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น
ความไม่ยินดี จึงมีแก่เรา
อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร1ที่เห็นได้ยาก
อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้แล้ว
[946] สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง
เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว
จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม
[947] คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น
รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
[948] มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ
ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว
[949] นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ
ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น
พึงน้อมใจไปในนิพพาน
[950] นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป
พึงกำหนดรู้ความถือตัว
และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน

เชิงอรรถ :
1 ลูกศร ในที่นี้หมายถึงกิเลส มี 7 คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ โสกะ และความสงสัย (ขุ.ม. (แปล)
29/174/492-493, ขุ.สุ.อ. 2/945/411

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :727 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสูตร
[951] นรชนไม่พึงยินดีสังขารเก่า
ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่
เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
[952] เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่
เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา
เรียกอารมณ์1ว่า ความหวั่นไหว
เปือกตมคือกาม เป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก
[953] มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก
มุนีสลัดสิ่งทั้งปวงได้แล้ว มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ
[954] มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท รู้ธรรมแล้ว ก็ไม่อาศัย2
มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ
ย่อมไม่ใฝ่หาใคร ๆ ในโลกนี้
[955] ผู้ใดข้ามกามและกิเลสเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้
ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ
เป็นผู้ตัดกระแสได้ ไม่มีเครื่องผูก
[956] เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
กิเลสเครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลัง อย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
1 ความติดใจ ความโลดแล่น อารมณ์ หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) 29/180/514)
2 ไม่อาศัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) 29/182/517)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :728 }