เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 14. ตุวฏกสูตร
ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง
การปรุงยาให้ตั้งครรภ์ และการบำบัดรักษาโรค
[935] ภิกษุไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา
แม้ได้รับการสรรเสริญก็ไม่พึงลำพองตน
พึงบรรเทาความโลภรวมทั้งความตระหนี่
ความโกรธ และวาจาส่อเสียด
[936] ภิกษุไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย
ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ
ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน
และไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน เพราะอยากได้ลาภ
[937] ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้
ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง
ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง
[938] ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด
และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่
ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร
[939] ภิกษุผู้ถูกคนเหล่าอื่นเบียดเบียน
ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะ หรือพวกคนพูดมาก(เหล่าอื่น)
ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู
[940] ภิกษุรู้ธรรมนี้แล้ว เลือกสรรอยู่
พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาทุกเมื่อ
รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :725 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสูตร
[941] ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ1ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยานซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาท
ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
นอบน้อมอยู่ พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
ตุวฏกสูตรที่ 14 จบ

15. อัตตทัณฑสูตร2
ว่าด้วยความกลัวเกิดจากโทษของตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสท่ามกลางหมู่ทหารของพระญาติทั้งสองฝ่ายดังนี้)
[942] ความกลัวเกิดจากโทษของตน
เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราได้เคยสังเวชมาแล้ว
[943] เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่
เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย
เพราะเห็นสัตว์ทำร้ายกันและกัน ภัยจึงปรากฏแก่เรา
[944] โลกทั้งหมด3ไม่มีแก่นสาร
สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว
เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน
ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ

เชิงอรรถ :
1 ครอบงำ หมายถึงครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หรือครอบงำบาปอกุศลธรรม
(ขุ.ม. (แปล) 29/169/478)
2 ขุ.ม. (แปล) 29/170-189/480-534
3 โลกทั้งหมด หมายถึงโลกนรก โลกกำเนิดดิรัจฉาน โลกเปตวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกขันธ์ โลกธาตุ
โลกอายตนะ และโลกพรหม (ขุ.ม. (แปล) 29/172/488)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :726 }