เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสูตร
[919] มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
เมื่อคนทั้งหลายเกิดวิวาทกันแล้ว
ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
[920] มุนีละอาสวะเก่า1ไม่ก่ออาสวะใหม่2
ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย
ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก
[921] มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนา3ในธรรมทั้งปวง
คือในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระ4ลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี
ไม่มีความปรารถนา
มหาวิยูหสูตรที่ 13 จบ

เชิงอรรถ :
1 อาสวะเก่า หมายถึงกิเลสเกิดขึ้นเพราะปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอดีต (ขุ.ม. (แปล)
29/148/394, ขุ.สุ.อ. 2/920/404)
2 อาวสวะใหม่ หมายถึงกิเลสที่เกิดขึ้นปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปัจจุบัน (ขุ.ม. (แปล)
29/148/394, ขุ.สุ.อ. 2/920/404)
3 เสนา ในที่นี้หมายถึงเสนามาร คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 29/149/277)
4 ภาระ หมายถึงสิ่งที่ต้องนำพา มี 3 คือ (1) ขันธภาระ ได้แก่ ขันธ์ 5 (2) กิเลสภาระ ได้แก่ ราคะ โทสะ
โมหะ เป็นต้น (3) อภิสังขารภาระ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.ม.
(แปล) 29/149/398)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :721 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 14. ตุวฏกสูตร
14. ตุวฏกสูตร1
ว่าด้วยภิกษุผู้กำจัดบาปธรรมอย่างเร็วพลัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[922] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า
ภิกษุเห็นอย่างไร จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดับไป
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[923] ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง
ที่เป็นรากเหง้าแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า2
และอัสมิมานะ ด้วยมันตา3
ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดในภายใน
ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น
[924] ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในภายในหรือในภายนอก
แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น
ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับกิเลส

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบคำแปลและรายละเอียดใน ขุ.ม. (แปล) 29/150-169/405-479
2 รากเหง้าแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า ในที่นี้หมายถึงอวิชชา (ความไม่รู้) อโยนิโสมนสิการ (การไม่มนสิการ
โดยแยบคาย) อัสมิมานะ (ความถือตัว) อหิริกะ (ความไม่ละอาย) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัว) อุทธัจจะ
(ความฟุ้งซ่าน) (ขุ.ม. (แปล) 29/151/412)
3 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 147 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :722 }