เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสูตร
[914] ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว
แท้จริง พราหมณ์ไม่เห็นธรรมอื่นว่า เป็นของประเสริฐ
[915] สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจดเพราะทิฏฐิว่า
เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่า มีจริง
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว
จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่า
เพราะพวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว
ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
[916] นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป
หรือครั้นเห็นแล้วก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้นเท่านั้น
นรชนเห็นนามรูปมากบ้าง น้อยบ้างโดยแท้
ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจด
เพราะการเห็นนามรูปนั้น
[917] นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย
เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวว่าศาสดานั้นดีงามเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
[918] พราหมณ์พิจารณาแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด
ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :720 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสูตร
[919] มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
เมื่อคนทั้งหลายเกิดวิวาทกันแล้ว
ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
[920] มุนีละอาสวะเก่า1ไม่ก่ออาสวะใหม่2
ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย
ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก
[921] มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนา3ในธรรมทั้งปวง
คือในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระ4ลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี
ไม่มีความปรารถนา
มหาวิยูหสูตรที่ 13 จบ

เชิงอรรถ :
1 อาสวะเก่า หมายถึงกิเลสเกิดขึ้นเพราะปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอดีต (ขุ.ม. (แปล)
29/148/394, ขุ.สุ.อ. 2/920/404)
2 อาวสวะใหม่ หมายถึงกิเลสที่เกิดขึ้นปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปัจจุบัน (ขุ.ม. (แปล)
29/148/394, ขุ.สุ.อ. 2/920/404)
3 เสนา ในที่นี้หมายถึงเสนามาร คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 29/149/277)
4 ภาระ หมายถึงสิ่งที่ต้องนำพา มี 3 คือ (1) ขันธภาระ ได้แก่ ขันธ์ 5 (2) กิเลสภาระ ได้แก่ ราคะ โทสะ
โมหะ เป็นต้น (3) อภิสังขารภาระ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.ม.
(แปล) 29/149/398)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :721 }