เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสูตร
[897] อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเอง1 เป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะ ก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
[898] ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นเป็นผู้พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่งด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
[899] พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น
[900] อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้น กล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
[901] เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
จูฬวิยูหสูตรที่ 12 จบ

เชิงอรรถ :
1 จบพระเวท หมายถึงจบไตรเพท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ มี 3 คือ (1) ฤคเวท
หรืออิรุเวท ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า (2) ยชุรเวท บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
(3) สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่ม (4) อถรรพเวท
หรืออาถรรพณเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ (องฺ.ติก.อ. 2/59/163)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :716 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสูตร
13. มหาวิยูหสูตร1
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรใหญ่
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[902] สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
หรือว่าจะได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐินั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[903] ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ
เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น 2 อย่าง2
บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาท3ว่า เกษม
ไม่พึงวิวาทกัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[904] ทิฏฐิสมมติ4เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น
ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/130-149/362-397
2 หมายถึงมีนินทา หรือสรรเสริญ อีกนัยหนึ่ง มีชนะ หรือพ่ายแพ้ (ขุ.สุ.อ. 2/903/400)
3 ภูมิแห่งการไม่วิวาท ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.ม. (แปล) 29/131/365)
4 ทิฏฐิสมมติ หมายถึงทิฏฐิ 62 (ขุ.ม. (แปล) 29/132/366, ขุ.สุ.อ. 2/904/400)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :717 }