เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสูตร
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[892] เพราะเหตุไรหนอ สมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่า เป็นคนฉลาดพูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[893] มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น 2 อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ
[894] เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร และอารมณ์ที่รับรู้
แล้วแสดงอาการดูหมิ่น และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจ
แล้วก็ร่าเริงกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
[895] เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน
[896] เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ1
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
1 อติสารทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ 62 และทิฏฐิ 62 นี้เอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ทิฏฐิที่ตกลงใจ’ (ขุ.ม.
(แปล) 29/124/354)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :715 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 12. จูฬวิยูหสูตร
[897] อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเอง1 เป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะ ก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
[898] ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นเป็นผู้พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่งด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
[899] พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น
[900] อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้น กล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
[901] เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
จูฬวิยูหสูตรที่ 12 จบ

เชิงอรรถ :
1 จบพระเวท หมายถึงจบไตรเพท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ มี 3 คือ (1) ฤคเวท
หรืออิรุเวท ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า (2) ยชุรเวท บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
(3) สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่ม (4) อถรรพเวท
หรืออาถรรพณเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ (องฺ.ติก.อ. 2/59/163)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :716 }