เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสูตร
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[871] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังนั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[872] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น
มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[873] ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความตัดสินใจมีมาจากไหน
อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย มีมาจากอะไร
และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว
ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[874] ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว
ย่อมทำการตัดสินใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :709 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสูตร
[875] ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ
ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย
ย่อมมีในเมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่
บุคคลผู้มีสงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ1
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มีมา
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[876] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านั้นจึงไม่มี

เชิงอรรถ :
1 ญาณ ในที่นี้หมายถึงญาณ 16 (โสฬสญาณ) ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ
ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือ (1) นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดรู้นามและรูป) (2) ปัจจยปริคคหญาณ
(ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป) (3) สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดย
ไตรลักษณ์) (4) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ) (5) ภังคานุ-
ปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด) (6) ภยตูปัฏ-
ฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น)
(7) อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ) (8) นิพพิทานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย) (9) มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อ
หน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น) (10) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก) (11) สังขารุเปกขาญาณ (ญาณ
อันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายต่อสังขารทั้งหลาย) (12) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ
อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่การหยั่งรู้อริยสัจ) (13) โคตรภูญาณ (ญาณหยั่งรู้ที่เป็น
หัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชน เข้าสู่ภาวะอริยบุคคล) (14) มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค (ความ
หยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น) (15) ผลญาณ ญาณในอริยผล (ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของ
พระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ) (16) ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรคผล
กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่และนิพพาน) (ขุ.ป. (แปล) 31/1-65/7-109, วิสุทฺธิ. 2/662-804/
250-350)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :710 }