เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 10. ปุราเภทสูตร
[862] บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา ในโลก
กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น
[863] บุคคลใดไม่มีที่อาศัย
ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ1
บุคคลนั้นรู้ธรรมแล้วไม่ต้องอาศัย
[864] เราเรียกบุคคลนั้นผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลายว่า
เป็นผู้เข้าไปสงบ บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ได้แล้ว
[865] บุคคลนั้นไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นา ไร่ และที่ดิน
ทิฏฐิว่า มีอัตตา หรือทิฏฐิว่า ไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น2
[866] เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษ3ใด
โทษนั้น ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย
[867] บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่
ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด4

เชิงอรรถ :
1 ภพ หมายถึงสัสสตทิฏฐิหรือภวทิฏฐิ วิภพ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. 2/863/390)
และดู ขุ.ม. (แปล) 29/91/285)
2 ดูสุตตนิบาตข้อ 794 หน้า 691 ในเล่มนี้ และดู ขุ.ม. (แปล) 29/22/98-100, 93/288-289 ประกอบ
3 โทษ หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/866/390)
4 ความกำหนด(กัปปะ) มี 2 อย่าง คือ (1) กำหนดด้วยอำนาจตัณหา (2) กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม.
(แปล) 29/95/293)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :707 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 11. กลหวิวาทสูตร
[868] บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก
เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ
ปุราเภทสูตรที่ 10 จบ

11. กลหวิวาทสูตร1
ว่าด้วยการทะเลาะวิวาท
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[869] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน
กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[870] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก2
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก
เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/97-112/297-337
2 สิ่งเป็นที่รัก มีความหมาย 2 อย่าง คือ (1) สัตว์ หมายถึงมารดา บิดา พี่ น้อง บุตร ธิดา เป็นต้น
(2) สังขาร หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ (ขุ.ม. (แปล) 29/98/301-302)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :708 }