เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 10. ปุราเภทสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[856] ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น
ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ (ในส่วนเบื้องปลาย)
[857] บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด
ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้สำรวมวาจานั้นแล ชื่อว่า เป็นมุนี
[858] บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย
[859] บุคคลนั้นเป็นผู้หลีกเร้น
ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่1 ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
[860] บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งที่น่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น
ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด
[861] บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
ไม่เดือดดาลและไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา

เชิงอรรถ :
1 ตระหนี่ มี 5 อย่าง (1) อาวาสมัจฉริยะ(ตระหนี่ที่อยู่) (2) กุลมัจฉริยะ(ตระหนี่ตระกูล) (3) ลาภ-
มัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) (4) วัณณมัจฉริยะ(ตระหนี่วรรณะ) (5) ธัมมมัจฉริยะ(ตระหนี่ธรรม) (ขุ.ม.
(แปล) 29/87/265)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :706 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 10. ปุราเภทสูตร
[862] บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา ในโลก
กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น
[863] บุคคลใดไม่มีที่อาศัย
ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ1
บุคคลนั้นรู้ธรรมแล้วไม่ต้องอาศัย
[864] เราเรียกบุคคลนั้นผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลายว่า
เป็นผู้เข้าไปสงบ บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ได้แล้ว
[865] บุคคลนั้นไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นา ไร่ และที่ดิน
ทิฏฐิว่า มีอัตตา หรือทิฏฐิว่า ไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น2
[866] เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษ3ใด
โทษนั้น ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย
[867] บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่
ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด4

เชิงอรรถ :
1 ภพ หมายถึงสัสสตทิฏฐิหรือภวทิฏฐิ วิภพ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. 2/863/390)
และดู ขุ.ม. (แปล) 29/91/285)
2 ดูสุตตนิบาตข้อ 794 หน้า 691 ในเล่มนี้ และดู ขุ.ม. (แปล) 29/22/98-100, 93/288-289 ประกอบ
3 โทษ หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/866/390)
4 ความกำหนด(กัปปะ) มี 2 อย่าง คือ (1) กำหนดด้วยอำนาจตัณหา (2) กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม.
(แปล) 29/95/293)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :707 }