เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 10. ปุราเภทสูตร
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น
[853] มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย
[854] มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง
ชนเหล่าใดยังยึดถือสัญญาและทิฏฐิ
ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก
มาคันทิยสูตรที่ 9 จบ

10. ปุราเภทสูตร1
ว่าด้วยก่อนการดับขันธปรินิพพาน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[855] บุคคลมีทัสสนะ2อย่างไร มีศีล3อย่างไร
จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบ4แล้ว
ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชนผู้สูงสุดนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/83-96/246-296
2 ทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญา (ขุ.สุ.อ. 2/855/388, ขุ.ม.อ. 83/315)
3 ศีล ในที่นี้หมายถึงอธิศีล (ขุ.สุ.อ. 2/855/388, ขุ.ม.อ. 83/315)
4 สงบ ในที่นี้หมายถึงอธิจิต (ขุ.สุ.อ. 2/855/388, ขุ.ม.อ. 83/315)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :705 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 10. ปุราเภทสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[856] ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น
ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ (ในส่วนเบื้องปลาย)
[857] บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด
ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้สำรวมวาจานั้นแล ชื่อว่า เป็นมุนี
[858] บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย
[859] บุคคลนั้นเป็นผู้หลีกเร้น
ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่1 ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
[860] บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งที่น่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น
ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด
[861] บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
ไม่เดือดดาลและไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา

เชิงอรรถ :
1 ตระหนี่ มี 5 อย่าง (1) อาวาสมัจฉริยะ(ตระหนี่ที่อยู่) (2) กุลมัจฉริยะ(ตระหนี่ตระกูล) (3) ลาภ-
มัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) (4) วัณณมัจฉริยะ(ตระหนี่วรรณะ) (5) ธัมมมัจฉริยะ(ตระหนี่ธรรม) (ขุ.ม.
(แปล) 29/87/265)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :706 }