เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 9. มาคันทิยสูตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ1
เพราะความไม่มีสุตะ2 เพราะความไม่มีญาณ3
เพราะความไม่มีศีล4 เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้5
นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว
ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ
(มาคันทิยพราหมณ์กราบทูลดังนี้)
[847] หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร

เชิงอรรถ :
1 ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ 10 คือ (1) ทานที่ให้แล้วมีผล (2) ยัญที่บูชาแล้วมีผล (3) การ
เซ่นสรวงมีผล (4) ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ (5) โลกนี้มี (6) โลกหน้ามี (7) มารดามีคุณ
(8) บิดามีคุณ (9) สัตว์เป็นโอปปาติกะมีอยู่ (10) สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งโลกนี้และ
โลกหน้า ด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก (ขุ.ม. (แปล) 29/74/224)
2 สุตะ ในที่นี้หมายถึงเสียงจากผู้อื่น คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม
และเวทัลละ (ขุ.ม. (แปล) 29/74/224)
3 ญาณ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณที่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน) หมายถึงสัจจานุโลมิก-
ญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ) และหมายถึงอภิญญาญาณ (ญาณคือความรู้
อย่างยิ่งยวด) มี 6 คือ (1) อิทธิวิธิ (2) ทิพพโสต (3) เจโตปริยญาณ (4) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
(5) ทิพพจักขุ (6) อาสวักขยญาณ และสมาปัตติญาณ (ญาณในสมาบัติ 8) (ขุ.ม. (แปล) 29/74/224)
4 ศีล ในที่นี้หมายถึงปาติโมกขสังวร (สำรวมในพระปาติโมกข์) (ขุ.ม. (แปล) 29/74/224)
5 วัตร ในที่นี้หมายถึงธุดงค์ 8 ข้อ คือ (1) อารัญญิกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่ในป่าเป็นวัตร) (2) ปิณฑ-
ปาติกังคธุดงค์ (สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) (3) ปังสุกูลิกังคธุดงค์ (สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร) (4) เตจีวริกังคธุดงค์ (สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร) (5) สปทานจาริกังคธุดงค์ (สมาทาน
การเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร) (6) ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ (สมาทานห้ามภัตที่ถวายภาย
หลังเป็นวัตร) (7) เนสัชชิกังคธุดงค์ (สมาทานการนั่งเป็นวัตร) (8) ยถาสันถติกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่
ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร (ขุ.ม. (แปล) 29/74/224-225)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :703 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 9. มาคันทิยสูตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ
เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ
เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้น ก็หามิได้
ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน
เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
[848] เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลายท่านจึงถามเนือง ๆ
ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลายที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว
และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย
[849] ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว 3 อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
[850] บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอะไรว่า จริง
หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด
พระอรหันต์นั้นพึงตอบโต้วาทะด้วยเหตุอะไรเล่า
[851] บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
[852] บุคคลผู้เป็นนาคะ สงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :704 }