เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสูตร
[819] มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้
เหมือนหยดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนดอกบัว ฉะนั้น
[820] พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้
พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น
ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
ชราสูตรที่ 6 จบ

7. ติสสเมตเตยยสูตร1
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ
(ท่านพระติสสเมตเตยยะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้)
[821] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ)
[822] คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/49-58/168-194

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :697 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสูตร
[823] ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว1
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม2
ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นปุถุชนเลวในโลก
เหมือนยานที่แล่นไป3 ฉะนั้น
[824] ยศและเกียรติ4ในเบื้องต้นของภิกษุนั้น เสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม
[825] ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น
[826] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของผู้อื่นตักตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา5ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
[827] ภิกษุ (ในเบื้องต้น) ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต
อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว
ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม
ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 เที่ยวไปผู้เดียว หมายถึงบวชเป็นบรรพชิตและการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ(ขุ.ม. (แปล) 29/51/177)
2 เข้าไปเสพเมถุน หมายถึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม (ขุ.ม. (แปล) 29/51/178)
3 ยานที่แล่นไป ในที่นี้หมายถึงยานช้าง ยานม้า และยานโค ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกหัด ย่อมแล่นพาออกไป
นอกทาง (ขุ.ม. (แปล) 29/51/178)
4 ยศและเกียรติ ในที่นี้หมายถึงลาภสักการะและความสรรเสริญ (ขุ.สุ.อ. 2/824/373)
5 ศัสตรา มี 3 อย่าง คือ (1) ศัสตราทางกาย (2) ศัสตราทางวาจา (3) ศัสตราทางใจ หรือกายทุจริต
3 อย่าง วจีทุจริต 4 อย่าง และมโนทุจริต 3 อย่าง ในที่นี้หมายถึงศัสตราทางวาจา (ขุ.ม. (แปล)
29/54/184)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :698 }