เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสูตร
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม
[791] เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่งเชิดชูไว้
(แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติ1ที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น
[792] ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง
[793] ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่
ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น
ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
ไม่มีความถือมั่น จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า
[794] เพราะว่า ผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะทิฏฐิว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา2
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 สันติ หมายถึงความสงบ มี 3 อย่าง คือ (1) อัจจันตสันติ (ความสงบอย่างสิ้นเชิง) หมายถึงอมตนิพพาน
(2) ตทังคสันติ (ความสงบด้วยองค์นั้น ๆ) หมายถึงผู้บรรลุรูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 (3) สมมุติสันติ
(ความสงบโดยสมมติ) หมายถึงทิฏฐิ 62 ในที่นี้หมายถึงสันติโดยสมมติ (ขุ.ม. (แปล) 29/19/88-89)
2 ทิฏฐิว่ามีอัตตา หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ดู ขุ.ม. (แปล) 29/22/
98-100, 93/288-289 และดู สุตตนิบาตข้อ 865 หน้า 707 ในเล่มนี้ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :691 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสูตร
4. สุทธัฏฐกสูตร1
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[795] เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ก็รู้ว่า ความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
จึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ
[796] ถ้าความหมดจดมีแก่นรชนเพราะความเห็น
หรือนรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
นรชนผู้ยังมีอุปธินั้นย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
เพราะว่า ทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น
[797] พราหมณ์2 ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีลและวัตรหรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น
พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละอัตตาได้3
เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้
[798] สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง
ไปตามความพลุ่งพล่าน4
ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/23-30/101-123
2 พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงผู้ลอยบาปธรรม 7 ประการ คือ (1) สักกายทิฏฐิ (2) วิจิกิจฉา (3) สีลัพพต-
ปรามาส (4) ราคะ (5) โทสะ (6) โมหะ (7) มานะ (ขุ.ม. (แปล) 29/25/104)
3 ละอัตตาได้ หมายถึงละ สละ และคายความยึดมั่นถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่าเป็นอัตตาด้วย
อำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) 29/25/109)
4 ความพลุ่งพล่าน ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) 29/26/110)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :692 }