เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสูตร
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
[786] มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คุหัฏฐกสูตรที่ 2 จบ

3. ทุฏฐัฏฐกสูตร1
ว่าด้วยเรื่องเดียรถีย์กับมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระอานนท์ดังนี้)
[787] เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริงก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหน ๆ
[788] ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น
[789] สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลและวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
[790] ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบคำแปลพร้อมทั้งอธิบายใน ขุ.ม. (แปล) 29/15-22/74-100

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :690 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [4. อัฏฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสูตร
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม
[791] เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่งเชิดชูไว้
(แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติ1ที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น
[792] ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง
[793] ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่
ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น
ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
ไม่มีความถือมั่น จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า
[794] เพราะว่า ผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะทิฏฐิว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา2
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 สันติ หมายถึงความสงบ มี 3 อย่าง คือ (1) อัจจันตสันติ (ความสงบอย่างสิ้นเชิง) หมายถึงอมตนิพพาน
(2) ตทังคสันติ (ความสงบด้วยองค์นั้น ๆ) หมายถึงผู้บรรลุรูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 (3) สมมุติสันติ
(ความสงบโดยสมมติ) หมายถึงทิฏฐิ 62 ในที่นี้หมายถึงสันติโดยสมมติ (ขุ.ม. (แปล) 29/19/88-89)
2 ทิฏฐิว่ามีอัตตา หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ดู ขุ.ม. (แปล) 29/22/
98-100, 93/288-289 และดู สุตตนิบาตข้อ 865 หน้า 707 ในเล่มนี้ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :691 }