เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 9. ปาปวรรค 4. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
3. ลาชเทวธีตาวัตถุ
เรื่องลาชเทพธิดา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ลาชเทพธิดา ดังนี้)
[118] หากบุคคลทำบุญ ก็ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น
เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้

4. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีและเทวดาผู้สิงสถิต
อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐี ดังนี้)
[119] ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
แต่เมื่อใด บาปให้ผล
เมื่อนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้
[120] ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
แต่เมื่อใด กรรมดีให้ผล
เมื่อนั้นคนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :68 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 9. ปาปวรรค 7. มหาธนวาณิชวัตถุ
5. อสัญญตปริกขารภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่เก็บรักษาบริขาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[121] บุคคลอย่าสำคัญว่าบาปเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง1
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนพาล เมื่อสั่งสมบาปทีละเล็กทีละน้อย
ก็เต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น

6. พิฬารปทกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องพิฬารปทกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีผู้อยู่เมืองสาวัตถี ดังนี้)
[122] บุคคลอย่าสำคัญว่าบุญเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนมีปัญญา เมื่อสั่งสมบุญแม้ทีละเล็กทีละน้อย
ก็เต็มด้วยบุญได้ ฉันนั้น

7. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[123] บุคคลควรละเว้นบาปทั้งหลาย
ดุจพ่อค้าที่มีทรัพย์มาก แต่มีพวกน้อย หลีกเลี่ยงทางที่มีภัย
และดุจคนรักชีวิตหลีกเลี่ยงยาพิษ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงอย่าสำคัญว่าตนทำบาปไว้เพียงนิดหน่อย คงจักไม่ให้ผล (ขุ.ธ.อ. 5/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :69 }