เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
[724] พึงฝึกฝนเพื่อการนั่งสงบผู้เดียว
และเพื่อบำเพ็ญจิตภาวนาของสมณะ
ความเป็นมุนีที่เราบอกไว้แล้วโดยส่วนเดียว
หากเธอจักยินดีอยู่ผู้เดียว
เธอก็จักปรากฏเกียรติคุณไปทั่ว 10 ทิศ
[725] เธอได้ฟังเสียงสรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลาย
ผู้เพ่งพินิจอยู่ ตัดขาดจากกามแล้ว
ต่อจากนั้น ควรทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้น
จึงนับว่าเป็นสาวกของเราได้
[726] เธอจะเข้าใจคำที่เรากล่าวแล้วนั้นได้แจ่มแจ้ง
ด้วยการเปรียบเทียบแม้น้ำกับลำคลอง และหนองบึง คือ
แม่น้ำน้อยไหลดังสนั่น
แม่น้ำสายใหญ่ๆ ไหลเงียบสงบ
[727] สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง
สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ
คนพาลเปรียบได้กับหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว
บัณฑิตเปรียบได้กับห้วงน้ำที่เต็มเปี่ยม
[728] พระสมณพุทธเจ้าทรงรู้จักถ้อยคำที่จะตรัสให้มากว่า
มีสาระประกอบด้วยประโยชน์ จึงทรงแสดงธรรม
พระองค์ทรงรู้อยู่จึงตรัสได้มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :671 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 12. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[729] อนึ่ง สมณะใดรู้แจ้งธรรม
สำรวมจิตของตนได้ ไม่กล่าวมากทั้งที่รู้
สมณะนั้นชื่อว่าเป็นมุนี
ย่อมควรแก่ปฏิปทาของมุนี
สมณะนั้นเป็นมุนีได้บรรลุปฏิปทาของมุนี1แล้ว
นาลกสูตรที่ 11 จบ

12. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเป็นคู่
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ เป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งกลางแจ้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ-
สงฆ์สงบนิ่งจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การฟังกุศลธรรมที่เป็นของ
พระอริยะ เป็นเครื่องนำออกจากโลก เป็นเหตุให้ดำเนินไปสู่ความตรัสรู้ จะมี
ประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย’ เธอทั้งหลายควรตอบเขาอย่างนี้ว่า ‘มีประโยชน์ให้
รู้จักธรรมแยกออกเป็น 2 คู่ตามความเป็นจริง’
เธอทั้งหลายควรตอบเขาถึงธรรมแยกออกเป็น 2 คู่ คือ
(1) การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย’ นี้เป็นคู่ที่ 1
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ นี้เป็นคู่
ที่ 2 ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น 2 คู่โดยชอบเนือง ๆ

เชิงอรรถ :
1 บรรลุปฏิปทาของมุนี หมายถึงบรรลุอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.สุ.อ. 2/727-729/332-333)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :672 }