เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
[720] ปฏิปทา1ที่พระสมณะประกาศแล้ว มีทั้งสูงและต่ำ2
มุนีผู้ปฏิบัติจะไปถึงฝั่งถึง 2 ครั้งหามิได้3
ฝั่งนี้ ผู้ปฏิบัติรู้ได้ครั้งเดียว ก็หามิได้4
[721] อนึ่ง มุนีเป็นภิกษุซึ่งตัดกระแสขาดแล้ว
ไม่มีตัณหาซ่านไป ละกิจน้อยใหญ่ได้แล้ว
ย่อมไม่มีความเร่าร้อน5
[722] เราจะพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีให้เธอทราบต่อไปคือ
ภิกษุผู้ปฏิบัติควรเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ
กดเพดานไว้ด้วยลิ้น สำรวมท้อง
[723] ควรเป็นผู้มีจิตไม่ท้อแท้ และไม่ควรครุ่นคิดกังวลมาก
เป็นผู้หมดกลิ่นสาบ6 ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
มีพรหมจรรย์เป็นจุดหมาย

เชิงอรรถ :
1 ปฏิปทา หมายถึงประเภทของการปฏิบัติ มี 4 อย่าง คือ (1) ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก
และรู้ได้ช้า) (2) ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว) (3) สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
(ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า) (4) สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว) (องฺ.จตุกฺก. (แปล)
21/161-163/226-230)
2 มีทั้งสูงและต่ำ หมายถึงปฏิปทาสูง คือ ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา และสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ส่วนปฏิปทาต่ำ คือ ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา และสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ขุ.สุ.อ. 2/720/330)
3 หมายถึงมุนีไม่สามารถบรรลุนิพพานถึง 2 ครั้งได้ ข้อความนี้แสดงถึงภาวะที่ไม่มีความเสื่อม กล่าวคือ
กิเลสเหล่าใดที่ละได้แล้ว ก็ไม่ต้องกลับไปละกิเลสเหล่านั้นซ้ำอีก (ขุ.สุ.อ. 2/720/330)
4 ข้อความนี้แสดงภาวะที่ละกิเลสด้วยมรรคนั้น ๆ ตามลำดับถึงอรหัตตมรรค มิใช่ละกิเลสทั้งหมดด้วยมรรค
ใดมรรคหนึ่ง (ขุ.สุ.อ. 2/720/330) และดู อภิ.ก. 37/265/474
5 ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) 30/74/270
6 กลิ่นสาบ หมายถึงความโกรธ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/54/134)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :670 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
[724] พึงฝึกฝนเพื่อการนั่งสงบผู้เดียว
และเพื่อบำเพ็ญจิตภาวนาของสมณะ
ความเป็นมุนีที่เราบอกไว้แล้วโดยส่วนเดียว
หากเธอจักยินดีอยู่ผู้เดียว
เธอก็จักปรากฏเกียรติคุณไปทั่ว 10 ทิศ
[725] เธอได้ฟังเสียงสรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลาย
ผู้เพ่งพินิจอยู่ ตัดขาดจากกามแล้ว
ต่อจากนั้น ควรทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้น
จึงนับว่าเป็นสาวกของเราได้
[726] เธอจะเข้าใจคำที่เรากล่าวแล้วนั้นได้แจ่มแจ้ง
ด้วยการเปรียบเทียบแม้น้ำกับลำคลอง และหนองบึง คือ
แม่น้ำน้อยไหลดังสนั่น
แม่น้ำสายใหญ่ๆ ไหลเงียบสงบ
[727] สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง
สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ
คนพาลเปรียบได้กับหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว
บัณฑิตเปรียบได้กับห้วงน้ำที่เต็มเปี่ยม
[728] พระสมณพุทธเจ้าทรงรู้จักถ้อยคำที่จะตรัสให้มากว่า
มีสาระประกอบด้วยประโยชน์ จึงทรงแสดงธรรม
พระองค์ทรงรู้อยู่จึงตรัสได้มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :671 }