เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
พรหมจรรย์1ของพระกุมารนี้
จะเผยแผ่ขจรไปอย่างกว้างขวาง
[700] แต่อายุของอาตมภาพเหลืออยู่ในโลกนี้ไม่นาน
อาตมภาพจะต้องมรณภาพไปในระหว่างนี้
อาตมภาพนั้นจะไม่ได้สดับธรรมของพระกุมาร
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงเร่าร้อนถึงความพินาศ ทุกข์ใจ
[701] อสิตฤๅษีนั้นทูลให้เจ้าศากยะทั้งหลาย
เกิดความปีติเป็นล้นพ้นแล้ว
จึงออกจากพระราชวังไปบำเพ็ญพรหมจรรย์ต่อไป
พร้อมกับอนุเคราะห์หลานของตนเอง
ฝึกให้เขาสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
[702] กล่าวสอนว่า ต่อไปภายหน้า
เจ้าได้ยินเสียงระบือไปว่า พระพุทธเจ้า
พระสิทธัตถราชกุมารนี้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว
กำลังทรงเผยแผ่ทางดำเนินสู่อมตธรรม
เจ้าจงไปทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระองค์
จงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด
[703] นาลกดาบสสั่งสมบุญไว้มาก
ได้รับคำพร่ำสอนจากอสิตฤๅษี
ผู้มีใจเกื้อกูล มีจิตมั่นคง
ซึ่งเป็นผู้เห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคต
จึงเฝ้ารักษาโสตินทรีย์ รอคอยพระชินสีห์อยู่

เชิงอรรถ :
1 พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนา (ขุ.สุ.อ. 2/699/320)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :666 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
[704] นาลกดาบสได้ฟังเสียงระบือถึงการที่พระชินสีห์
ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ
จึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ องอาจกว่าฤๅษี
แล้วเลื่อมใส ได้ทูลถามปฏิปทาที่ประเสริฐสุดกับพระมุนีผู้ประเสริฐ
ในเมื่อเวลาคำสั่งสอนของอสิตฤๅษีมาถึงเข้า
วัตถุคาถา จบ

(นาลกดาบสทูลถามดังนี้)
[705] ข้าแต่พระโคดม คำของอสิตฤๅษีนั้น
ข้าพระองค์ได้รู้ว่า เป็นจริงตามที่กล่าวแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
[706] พระองค์ผู้อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอจงตรัสบอกมุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนีแห่งบรรพชิต
ผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[707] เราจักพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีที่ปฏิบัติได้ยาก
ทั้งให้เกิดความยินดีได้ยากแก่เธอ
เอาเถิด เราจะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่เธอ
เธอจงช่วยเหลือตนเอง จงเป็นผู้มั่นคงเถิด
[708] มุนีพึงทำทั้งคำด่าและการกราบไหว้
ในหมู่บ้านให้มีส่วนเสมอกัน
คือพึงรักษาจิตไม่ให้คิดร้าย เป็นผู้สงบ
ไม่ฟุ้งซ่านเที่ยวไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :667 }