เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “ภิกษุ หนึ่งเกวียน
เมล็ดงาของชาวโกศลมีอัตรา 20 ขารี1 ล่วงไปแล้ว 100,000 ปี บุรุษจึงนำ
เมล็ดงาออกจากเกวียนนั้น 1 เมล็ด เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา
20 ขารีนั้น จะพึงหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า แต่ว่า 1 อัพพุทนรก2หาหมด
ไปไม่ 20 อัพพุทนรก เป็น 1 นิรัพพุทนรก 20 นิรัพพุทนรก เป็น 1 อพพนรก
20 อพพนรก เป็น 1 อหหนรก 20 อหหนรก เป็น 1 อฏฏนรก 20 อฏฏนรก
เป็น 1 กุมุทนรก 20 กุมุทนรก เป็น 1 โสคันธิกนรก 20 โสคันธิกนรก เป็น
1 อุปปลกนรก 20 อุปปลกนรก เป็น 1 ปุณฑรีกนรก 20 ปุณฑรีกนรก เป็น
1 ปทุมนรก
ภิกษุ โกกาลิกภิกษุนี้เกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในสารีบุตรและ
โมคคัลลานะ”

เชิงอรรถ :
1 ขารี เป็นชื่อมาตราตวงชนิดหนึ่งของอินเดียโบราณ มีลำดับมาตราดังนี้
4 กุฑุวะ หรือปสตะ(ฟายมือ) เป็น 1 ปัตถะ (กอบ)
4 ปัตถะ เป็น 1 อาฬหกะ
4 อาฬหกะ เป็น 1 โทณะ
4 โทณะ เป็น 1 มาณิกา
4 มาณิกา เป็น 1 ขารี
20 ขารี เป็น 1 เกวียน
(ขุ.สุ.อ. 2/662/307, อภิธา. ฏีกา คาถา 480-494)
2 อัพพุทนรก นิรัพพุทนรก อพพนรก อหหนรก อฏฏนรก กุมุทนรก โสคันธิกนรก อุปปลกนรก ปุณฑรีกนรก
ปทุมนรก ทั้งหมดนี้อยู่ในอเวจีมหานรก เป็นนรกเล็กอยู่ในนรกใหญ่ ไม่มีภูมิเป็นของตนเอง แต่เป็นที่ซึ่ง
สัตว์จะต้องรับกรรม เช่น อัพพุทนรก เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โดยการนับชิ้นเนื้อเป็นเครื่องบอกระยะ
เวลาในการทรมานสัตว์ (องฺ.ทสก.อ. 3/89/366, ขุ.สุ.อ. 2/662/307)
อนึ่ง นรกเหล่านี้ปรากฏชื่อตามจำนวนสังขยา อรรถกถาให้นัยไว้ว่า นรกเหล่านี้มีวิธีนับระยะเวลาปี
ของอัพพุทนรกเป็นตัวอย่างดังนี้ คือ
10,000,000 ปี เป็น 1 โกฏิ-ปี
10,000,000 โกฏิ-ปี เป็น 1 ปโกฏิ-ปี
10,000,000 ปโกฏิ-ปี เป็น 1 โกฏิปโกฏิ-ปี
10,000,000 โกฏิปโกฏิ-ปี เป็น 1 นหุต-ปี
10,000,000 นหุต-ปี เป็น 1 นินนหุต-ปี
10,000,000 นินนหุต-ปี เป็น 1 อัพพุทะ-ปี
ต่อจากอัพพุทะไปใช้ 1 x 20 เช่น 20 อัพพุทะ (1 อัพพุทะ x 20) ได้เท่ากับ 1 นิรัพพุทะ เป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. 2/662/307, กัจ. 5/8/395)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :658 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[663] ผรุสวาจา(คำหยาบ)เป็นเหมือนผึ่ง1
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของคนพาล
[664] ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น
[665] การปราชัยด้วยทรัพย์
ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้
เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย
ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น
เป็นความผิดมากกว่า
[666] บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่ว
ติเตียนพระอริยะย่อมเข้าถึงนรก
สิ้น 136,000 นิรัพพุทกัป
กับอีก 5 อัพพุทกัป
[667] คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก2

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “ผึ่ง” หมายถึงชื่อเครื่องมือสำหรับถากไม้ชนิดหนึ่ง รูปคล้ายจอบ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย-
สถาน พ.ศ.2525)
2 ดู ธรรมบท ข้อ 306 หน้า 128, อุทาน ข้อ 38 หน้า 248, อิติวุตตกะ ข้อ 48 หน้า 399

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :659 }