เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 9. วาเสฏฐสูตร
[656] บุคคลจะชื่อว่า เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะชาติกำเกิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
ชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะกรรม
[657] บุคคลชื่อว่าเป็นชาวนาเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นช่างศิลป์ เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ ก็เพราะกรรม
[658] ชื่อว่าเป็นโจร เป็นทหารอาชีพ เป็นปุโรหิต
แม้กระทั่งเป็นพระราชา ก็เพราะกรรมทั้งนั้น
[659] บัณฑิตผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท
ฉลาดในกรรมและวิบาก
ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้
[660] สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน
เปรียบเหมือนรถที่แล่นไปมีหมุดเป็นเครื่องตรึงไว้ ฉะนั้น
[661] บุคคลจะเป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรมอันประเสริฐนี้
คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ ทมะ1
กรรมอันประเสริฐนี้นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้
[662] บุคคลสมบูรณ์ด้วยวิชชา 3
มีความสงบ สิ้นภพใหม่แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ตบะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ พรหมจรรย์ หมายถึงการประพฤติธรรมอันประเสริฐ สัญญมะ
หมายถึงมีศีล ทมะ หมายถึงมีปัญญา (ขุ.สุ.อ. 2/661/302)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :654 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 10. โกกาลิกสูตร
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
บุคคลนั้นเป็นทั้งพรหม และท้าวสักกะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้
กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วาเสฏฐสูตรที่ 9 จบ

10. โกกาลิกสูตร1
ว่าด้วยพระโกกาลิกะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว
ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
เมื่อโกกาลิกภิกษุกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิก-
ภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจง
ทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีล
เป็นที่รัก”

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/181/248, องฺ.ทสก. (แปล) 24/89/200-204

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :655 }