เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 9. วาเสฏฐสูตร
[644] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม1ทางหล่ม2
สงสาร และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[645] ผู้ใดในโลกนี้ละกามได้แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นกามและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[646] ผู้ใดในโลกนี้ละตัณหาได้เด็ดขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[647] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้3
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากโยคะทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[648] ผู้ละทั้งความยินดี4 และความไม่ยินดี5
เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส

เชิงอรรถ :
1 ทางอ้อม ในที่นี้หมายถึงราคะ (ขุ.สุ.อ. 2/644/299)
2 ทางหล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. 2/644/299)
3 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 166 ในเล่มนี้
4 ดูเชิงอรรถที่ 3 หน้า 166 ในเล่มนี้
5 ดูเชิงอรรถที่ 4 หน้า 166 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :652 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 9. วาเสฏฐสูตร
ครอบงำโลกทั้งหมด เป็นผู้แกล้วกล้า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[649] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ
ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง ไปดีแล้ว
และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์
[650] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ก็รู้ไม่ได้
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์
[651] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์
[652] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว
ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์
[653] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้ เห็นสวรรค์และอบาย
บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[654] อันที่จริง ชื่อและโคตรที่เขากำหนดให้กันนั้น
เป็นเพียงสมมติบัญญัติในโลก
ชื่อและโคตรปรากฏอยู่ได้เพราะรู้ตามกันมา
ญาติสาโลหิตกำหนดไว้ในการเกิดนั้น ๆ
[655] ชื่อและโคตรที่กำหนดเรียกกันนี้
เป็นความเห็นที่ฝังแน่นอยู่ในใจมานานของคนผู้ไม่รู้ความจริง
เมื่อไม่รู้จึงกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :653 }