เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 8. สัลลสูตร
[591] ผู้ที่เบียดเบียนตนเอง ย่อมจะซูบผอม ไม่ผ่องใส
สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลก
หาคุ้มครองตนอยู่ด้วยการคร่ำครวญนั้นได้ไม่
ฉะนั้น การคร่ำครวญจึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์1
[592] ผู้ทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้วอยู่เสมอ
บรรเทาความเศร้าโศกไม่ได้
ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก
ย่อมได้รับทุกข์มากขึ้น
[593] ท่านจงดูแม้คนเหล่าอื่นผู้ใกล้จะตายไปตามกรรม
และสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้ตกอยู่ในอำนาจมัจจุราช
ต่างพากันดิ้นรนอยู่ทั้งนั้น
[594] อาการใด ๆ ที่สัตว์ทั้งหลายสำคัญหมาย
อาการนั้น ๆ ย่อมแปรผันเป็นอื่นไป2
การพลัดพรากจากกันและกันเช่นนี้ มีอยู่เป็นประจำ
ท่านจงพิจารณาดูความเป็นจริงของสัตว์โลกเถิด
[595] บุคคลแม้จะดำรงชีวิตอยู่ถึง 100 ปี
หรือเกินไปบ้างก็ตาม ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ
และต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้แน่นอน
[596] เพราะฉะนั้น บุคคลฟังธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว
เห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป กำหนดรู้ว่าผู้ล่วงลับดับชีวิตไปนั้น
ไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตอยู่ร่วมกับเราได้อีก
ควรกำจัดความคร่ำครวญ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) 27/91/369
2 หมายถึงที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้มีอายุยืน’ ก็กลับกลายเป็นสิ่งตรงข้ามคือตายไป และที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้ไม่มีโรค’
ก็กลับกลายมีโรค เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/594/289)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :643 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 9. วาเสฏฐสูตร
[597] ธีรชนผู้มีปัญญา ฉลาดปราชญ์เปรื่อง
ควรขจัดความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
เหมือนลมพัดนุ่นปลิวไป
เหมือนคนใช้น้ำดับไฟที่กำลังไหม้ลุกลาม ฉะนั้น
[598] บุคคลผู้แสวงหาความสุขแก่ตน
ควรกำจัดความคร่ำครวญ ความทะยานอยาก
และโทมนัสของตน
ควรถอนลูกศรคือกิเลสของตน
[599] บุคคลผู้ถอนลูกศรคือกิเลสได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ถึงความสงบใจ ล่วงพ้นความเศร้าโศกได้ทั้งหมด
ไม่มีความเศร้าโศก ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว
สัลลสูตรที่ 8 จบ

9. วาเสฏฐสูตร
ว่าด้วยวาเสฏฐมาณพทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนื้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้าน
อิจฉานังคละ สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลมีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก คือ จังกีพราหมณ์
ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์
และพราหมณมหาศาลมีชื่อเสียงอื่น ๆ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอิจฉานังคละ
ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพกำลังเดินเล่นพักผ่อน ระหว่างนั้น
ได้สนทนาถึงข้อความนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลชื่อว่าพราหมณ์ โดยวิธีอย่างไร”
ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลที่เกิดมาดีทั้ง 2 ฝ่าย คือ
ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุรษ ไม่มีใคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :644 }