เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 7. เสลสูตร
ตามลำดับจนถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีพระกิตติศัพท์อันงาม
ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในเช้าวันพรุ่งนี้”
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ”
เกณิยชฎิลตอบว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ”
เสลพราหมณ์ถามย้ำอีกว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ”
เกณิยชฎิลก็ตอบย้ำว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ”
ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ได้คิดว่า “ว่าตามลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ
ในคัมภีร์มนตร์ของพวกเราระบุว่า ‘แม้แต่เสียงประกาศ คือคำว่า พุทธะ นี้ก็หา
ได้ยากในโลก’ ซึ่งมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ ย่อมมี
คติ 2 ประการเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
ถ้าอยู่ครองเรือนก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ปกครองแผ่นดินโดยธรรม
พระราชอำนาจแผ่ไปทั่วปฐพีมีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต ทรงชนะข้าศึกทั้ง
ภายในและภายนอก มีพระราชอาณาจักรมั่นคง ทรงสมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ
คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว
พระองค์มีพระราชโอรสมากกว่า 1,000 พระองค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีพระรูป
สง่างามสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถจะทำลายกองทัพข้าศึก พระองค์ทรงพิชิตชัยโดย
คุณธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้ ซึ่งมี
สมุทรสาครเป็นขอบเขต
ถ้าเสด็จออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก”
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ขณะนี้ท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :633 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 7. เสลสูตร
เสลพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อเสลพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลได้ยกแขนขวาขึ้นได้กล่าวกับ
เสลพราหมณ์ดังนี้ว่า “ท่านเสละ ท่านจงเดินไปทางบริเวณทิวไม้สีเขียวนั้นเถิด”
เมื่อได้ฟังดังนั้น เสลพราหมณ์พร้อมทั้งมาณพ 300 คน จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ พลางเรียกมาณพเหล่านั้นมาเตือนว่า “ท่านทั้งหลาย จงอย่า
ส่งเสียงดัง ค่อย ๆ เดินตามกันไปให้เป็นระเบียบ เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นชอบอยู่
ตามลำพังดุจพญาราชสีห์ให้ยินดีได้ยาก อนึ่ง ขณะที่เรากำลังสนทนากับพระสมณ-
โคดม ขอพวกท่านอย่าพูดสอดแทรกขึ้น รอให้เราสนทนาจบเสียก่อน”
เมื่อตักเตือนศิษย์อย่างนี้แล้ว เสลพราหมณ์พาศิษย์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร พลางตรวจดูลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ
ในพระวรกายพระผู้มีพระภาค ก็ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการในพระวรกาย
ของพระผู้มีพระภาคเป็นส่วนมาก เว้นอยู่เพียง 2 ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย
ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับ ในลักษณะมหาบุรุษอีก 2 ประการ คือ (1) พระคุยหฐานที่
เร้นอยู่ในฝัก (2) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “เสลพราหมณ์นี้เห็นลักษณะมหาบุรุษ
32 ประการของเราเป็นส่วนมาก เว้นอยู่ 2 ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย
ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับในลักษณะมหาบุรุษอีก 2 ประการ คือ (1) พระคุยหฐานที่เร้นอยู่
ในฝัก (2) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง”
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เสลพราหมณ์ได้เห็น
พระคุยหฐานที่เร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง 2
สลับกันไปมา แล้วทรงย้ายกลับมาสอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองสลับกัน แล้วจึง
ทรงแผ่พระชิวหาปิดบริเวณพระนลาฏทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :634 }