เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
[547] พระองค์ผู้มีพระจักษุ ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อสงสัย
ที่เคยมีมาก่อนของข้าพระองค์จนหมดสิ้นแล้ว
พระองค์ไม่มีนิวรณ์ จึงนับว่าเป็นพระมุนี
ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแน่แท้
[548] อนึ่ง ความคับแค้นใจทั้งหมด
พระองค์ทรงกำจัดตัดถอนได้แล้ว
พระองค์จึงมีพระทัยเยือกเย็น
มีการอบรมตนถึงที่สุดแล้ว มีพระปัญญาทรงจำมั่นคง
มีความบากบั่นในสัจจะเป็นนิตย์
[549] เทวดาทั้ง 2 พวกที่อาศัยอยู่ ณ นารทบรรพตทั้งหมด
พากันชื่นชมอนุโมทนาพระองค์ผู้ประเสริฐ
ยิ่งใหญ่ในหมู่คนผู้ประเสริฐ ผู้ทรงมีความเพียรยิ่งใหญ่
ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่
[550] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ไม่มีผู้ใดเลยที่จะทรงคุณเสมอด้วยพระองค์
ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
[551] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :628 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
[552] พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิกิเลสได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน (ความถือมั่น)
ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ1
[553] พระองค์ไม่ทรงติดอยู่ในบุญและบาปทั้งสอง
เหมือนดอกบัวขาวที่สวยงามไม่ติดอยู่ในน้ำ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระบาทออกมาเถิด
สภิยะจะขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดา
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมอย่างแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือน
บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้
บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สภิยะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มาก่อน หวังจะบรรพชา
อุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อครบ 4 เดือนแล้ว
ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แต่ในเรื่องการอยู่ปริวาสนี้
เราก็ทราบความแตกต่างของแต่ละบุคคล”
สภิยปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มา
ก่อน หวังจะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา 4 เดือน
เมื่อครบ 4 เดือนแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ
ข้าพระองค์ก็จะขออยู่ปริวาสเป็นเวลา 4 ปี เมื่อครบ 4 ปี หากภิกษุทั้งหลายพอใจก็
ขอโปรดบรรพชาอุปสมบทให้ข้าพระองค์เป็นภิกษุด้วยเถิด”

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/839-840/479

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :629 }