เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[517] สภิยะ ท่านเดินทางมาไกล มุ่งหวังเพื่อจะถามปัญหา
เราจะกล่าวเฉลยปัญหาที่ท่านถามให้สิ้นสงสัย
เราจะพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับแก่ท่าน
[518] สภิยะ ท่านปรารถนาจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งอยู่ในใจ
ก็จงถามมาเถิด
เราจะตอบปัญหานั้น ๆ ให้หมดแก่ท่าน
ทันใดนั้น สภิยปริพาชกคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เราไม่เคยได้
โอกาสสักหน่อยในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเลย แต่พระสมณโคดมได้ทรงให้โอกาสนี้
แก่เราแล้ว” เขาจึงดีใจ เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระ
ผู้มีพระภาคว่า
[519] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ภิกษุ
บุคคลปฏิบัติอย่างไรบัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว
บุคคลรู้อย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พุทธะ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ด้วยพระคาถาดังนี้)
[520] สภิยะ บุคคลใดควรแก่คำชมเชยว่า
เป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ภิกษุ1

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/18/84

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :620 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
[521] บุคคลผู้วางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง มีสติ
ไม่เบียดเบียนสัตว์ไร ๆ ในโลกทั้งหมด
เป็นผู้ข้ามโอฆะได้ เป็นผู้สงบ
มีจิตไม่ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสฟุ้งซ่าน
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
[522] บุคคลใดอบรมอินทรีย์ทั้งหลายได้แล้วในโลกทั้งปวง
ทั้งภายในและภายนอก รู้ชัดทั้งโลกนี้และโลกหน้า
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น
บุคคลนั้นผู้อบรมตนแล้วเช่นนี้
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว1
[523] บุคคลผู้พิจารณากิเลสเครื่องกำหนดจิตทั้งสิ้น
รู้ชัดสังสารวัฏทั้ง 2 ส่วน คือจุติและอุบัติ
ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสพอกพูน
เป็นผู้หมดจด บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
บัณฑิตเรียกว่า พุทธะ
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
[524] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พราหมณ์
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า สมณะ
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ล้างบาปได้
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า นาคะ2
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/90/282, ขุ.จู. (แปล) 30/18/118
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 185 ในเล่มนี้ และดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/80/238, ขุ.จู. (แปล) 30/27/145

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :621 }