เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 5. มาฆสูตร
[514] (มาฆมาณพทูลถามดังนี้)
ใคร ชื่อว่าบริสุทธิ์ หลุดพ้น และชื่อว่ายังติดอยู่
บุคคลจะไปให้ถึงพรหมโลกด้วยตนได้อย่างไร
ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์ไม่รู้ จึงทูลถาม
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ก็พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพรหม
ข้าพระองค์เห็นโดยประจักษ์ในวันนี้
เพราะพระองค์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมของข้าพระองค์จริง ๆ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความรุ่งเรือง
บุคคลจะเข้าถึงพรหมโลกได้อย่างไร
[515] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ บุคคลผู้บูชายัญญสัมปทาครบทั้ง 3 กาลเช่นนั้น
พึงยังการบูชาให้บริสุทธิ์ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
เราเรียกบุคคลผู้ควรแก่การขอ
บูชาถวายไทยธรรมอย่างนั้นว่า
เข้าถึงพรหมโลกได้แน่นอน
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาฆมาณพได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่าน
พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระองค์จงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มาฆสูตรที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :617 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 6. สภิยสูตร
6. สภิยสูตร
ว่าด้วยสภิยปริพาชกทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น เทวดาผู้เคยเป็นสาโลหิต1ของสภิยปริพาชกได้ตั้งปัญหา
พร้อมกล่าวว่า “สภิยะ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด ถูกท่านถามปัญหาเหล่านี้แล้ว
พยากรณ์ได้ ท่านควรประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้นเถิด”
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกเรียนปัญหาเหล่านั้นในสำนักของเทวดานั้น แล้วเข้า
ไปหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ปูรณะ กัสสปะ
มักขลิ โคสาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจานะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร นิครนถ์
นาฏบุตร แล้วถามปัญหาเหล่านั้น
ท่านเหล่านั้นถูกถามแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามสภิยปริพาชก
เสียอีก
ต่อมา สภิยปริพาชกมีความคิดดังนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้า
หมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่
คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร
ถูกเราถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ ความ
ขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก
ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ เราเปลี่ยนเพศเป็นคฤหัสถ์ไปเสพกามเสียดีกว่า”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า “สาโลหิต” ในที่นี้มิใช่เป็นมารดา มิใช่เป็นบิดา แต่เป็นเหมือนมารดา เหมือนบิดา เพราะมี
อัธยาศัยเกื้อกูลต่อกัน (ขุ.สุ.อ. 2/244)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :618 }