เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 5. มาฆสูตร
[504] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[505] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้สงบ ผู้ปราศจากราคะ ไม่มีความโกรธ
ผู้ไม่มีคติ เพราะละขันธ์ 5 ในโลกนี้ได้แล้ว
[506] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละชาติและมรณะได้หมดสิ้นแล้ว
ล่วงพ้นความสงสัยทุกอย่าง
[507] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง เที่ยวไปในโลก
[508] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้รู้แจ้งในขันธ์และอายตนะเป็นต้น
ตามสภาวะที่เป็นจริงว่า
นี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป
[509] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่ท่านผู้จบเวท ยินดีในฌาน
มีสติ บรรลุสัมโพธิญาณ
เป็นสรณะของเทวดาและมนุษย์จำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :615 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 5. มาฆสูตร
[510] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
คำถามของข้าพระองค์ไม่เปล่าประโยชน์แน่แท้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสบอก
พระทักขิไณยบุคคลทั้งหลายแก่ข้าพระองค์แล้ว
ความจริง พระองค์ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด
ในโลกนี้อย่างถ่องแท้
ธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้ว
[511] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกยัญญสัมปทา1
แก่ข้าพระองค์ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี ควรแก่การขอ
ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ ให้ข้าว และน้ำ
บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[512] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ท่านเมื่อจะบูชาก็จงบูชาเถิด
และจงทำจิตให้ผ่องใสในกาลทั้งปวง
ยัญย่อมเป็นอารมณ์หน่วงจิตของผู้กำลังบูชาบุคคล
ผู้มีจิตตั้งมั่นในยัญนี้แล้ว ย่อมละโทษ2ได้
[513] อนึ่ง บุคคลนั้นปราศจากราคะแล้ว ควรกำจัดโทสะ
เจริญเมตตาจิตทั่วไปแก่สัตว์ทุกจำพวก
ไม่ประมาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิตย์
ชื่อว่าย่อมแผ่อัปปมัญญา3ไปทั่วทิศ

เชิงอรรถ :
1 ยัญญสัมปทา หมายถึงความสมบูรณ์ของการบูชาครบ 3 กาล คือ (1) ก่อนให้ ก็มีใจดี (2) ขณะให้
ก็ทำจิตให้ผ่องใส (3) ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นใจ (ขุ.สุ.อ. 2/512/241)
2 โทษ มี 3 อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง (ขุ.สุ.อ. 2/512/241)
3 อัปปมัญญา ในที่นี้หมายถึงเมตตาฌาน (ขุ.สุ.อ. 2/513/241)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :616 }