เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
[475] ตถาคตละตัณหาและทิฏฐิ
อันเป็นกิเลสนอนเนื่องประจำใจได้แล้ว
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิเครื่องยึดถือใด ๆ
ชื่อว่าหมดความยึดมั่นในโลกนี้หรือโลกอื่น
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[476] ตถาคตมีจิตเป็นสมาธิ ข้ามพ้นโอฆะได้เด็ดขาด
และรู้ธรรมด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม
หมดสิ้นอาสวะ ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[477] ภวาสวะ1และวาจาหยาบคาย
ตถาคตกำจัดให้สิ้นได้ ไม่มีอยู่
เป็นผู้จบเวท หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง2
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[478] ตถาคตผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง ไม่มีธรรมเครื่องข้อง
เมื่อคนทั่วไปติดข้องเพราะมานะ ตถาคตขจัดมานะได้
กำหนดรู้ทุกข์พร้อมทั้งเขตและที่ตั้ง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[479] ตถาคตไม่อิงอาศัยความหวัง มีปกติเห็นความสงัด
ล่วงพ้นทิฏฐิที่ผู้อื่นรู้กัน
ไม่มีกิเลสเครื่องยึดเหนี่ยวใด ๆ ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[480] ตถาคตรู้แจ้งธรรมทั้งที่ดีและเลว
กำจัดให้สูญสิ้นได้เด็ดขาดแล้ว เป็นผู้สงบ
น้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปาทาน ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

เชิงอรรถ :
1 ภวาสวะ หมายถึงราคะที่ประกอบด้วย (1) ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) (2) ฌานนิกันติ (ความ
ยึดติดในฌาน (3) สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) (ขุ.สุ.อ. 2/477/232)
2 ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์และอายตนะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/477/232)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :608 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
[481] ตถาคตมีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
ขจัดสังโยชน์อันเป็นทางแห่งราคะได้หมดสิ้น
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากมลทิน
หมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[482] ตถาคตไม่พิจารณาเห็นตนโดยความเป็นตน1
มีจิตตั้งมั่น ปฏิบัติตรง ดำรงตนมั่นคง ไม่หวั่นไหว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัย ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[483] ตถาคตไม่มีเหตุเกิดโมหะใด ๆ
มีปกติเห็นด้วยญาณในธรรมทั้งปวง
ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
และบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณที่ยอดเยี่ยมอันเกษม
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ตถาคตนับว่ามีความบริสุทธิ์ที่น่าบูชา
จึงควรแก่เครื่องบูชา
[484] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
การบูชาของข้าพระองค์
จะเป็นการบูชาที่ถูกต้องอย่างแน่แท้
เพราะได้พบบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์
ขอพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพรหมโดยประจักษ์
โปรดทรงรับ ทรงบริโภคเครื่องบูชาของข้าพระองค์ด้วยเถิด
[485] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
พราหมณ์ เราไม่บริโภคโภชนะ
ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
ธรรมนั้นมิใช่ธรรมของผู้พิจารณา

เชิงอรรถ :
1 เห็นตนโดยความเป็นตน หมายถึงเห็นขันธ์ 5 ด้วยจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ (ขุ.สุ.อ. 2/482/234)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :609 }