เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
สำรวมตนเคร่งครัด เที่ยวไปอยู่
เหมือนกระสวยที่ไปตรง
[470] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[471] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลส มีสติอยู่ทุกเมื่อ
ละนามรูปที่ยึดถือว่าเป็นของเราได้แล้ว เที่ยวไปอยู่ในโลก
[472] ตถาคตละกามทั้งหลายได้
มีปกติครอบงำกามทั้งหลาย เที่ยวไป
รู้ที่สุดแห่งชาติและมรณะ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาดแล้ว
เป็นผู้เยือกเย็นเหมือนห้วงน้ำ ควรแก่เครื่องบูชา
[473] ตถาคตผู้เสมอพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
อยู่ห่างไกลจากบุคคลผู้ไม่เสมอทั้งหลาย มีปัญญาหาที่สุดมิได้
เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่แปดเปื้อน ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[474] ตถาคต ไม่มีมายา ไม่มีมานะ ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือสิ่งว่าเป็นของเรา
ไม่มีความหวัง กำจัดความโกรธ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาด
เป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาปได้แท้จริง
ละมลทินคือความโศกได้แล้ว ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :607 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
[475] ตถาคตละตัณหาและทิฏฐิ
อันเป็นกิเลสนอนเนื่องประจำใจได้แล้ว
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิเครื่องยึดถือใด ๆ
ชื่อว่าหมดความยึดมั่นในโลกนี้หรือโลกอื่น
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[476] ตถาคตมีจิตเป็นสมาธิ ข้ามพ้นโอฆะได้เด็ดขาด
และรู้ธรรมด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม
หมดสิ้นอาสวะ ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[477] ภวาสวะ1และวาจาหยาบคาย
ตถาคตกำจัดให้สิ้นได้ ไม่มีอยู่
เป็นผู้จบเวท หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง2
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[478] ตถาคตผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง ไม่มีธรรมเครื่องข้อง
เมื่อคนทั่วไปติดข้องเพราะมานะ ตถาคตขจัดมานะได้
กำหนดรู้ทุกข์พร้อมทั้งเขตและที่ตั้ง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[479] ตถาคตไม่อิงอาศัยความหวัง มีปกติเห็นความสงัด
ล่วงพ้นทิฏฐิที่ผู้อื่นรู้กัน
ไม่มีกิเลสเครื่องยึดเหนี่ยวใด ๆ ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[480] ตถาคตรู้แจ้งธรรมทั้งที่ดีและเลว
กำจัดให้สูญสิ้นได้เด็ดขาดแล้ว เป็นผู้สงบ
น้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปาทาน ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

เชิงอรรถ :
1 ภวาสวะ หมายถึงราคะที่ประกอบด้วย (1) ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) (2) ฌานนิกันติ (ความ
ยึดติดในฌาน (3) สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) (ขุ.สุ.อ. 2/477/232)
2 ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์และอายตนะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. 2/477/232)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :608 }