เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
[465] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
พราหมณ์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์นี้
จงเข้ามาถามเถิด ท่านก็จะได้พบบุคคลผู้สงบ
กำจัดความโกรธได้ ไม่มีความทุกข์
ไม่มีความหวัง มีปัญญาดี ในโลกนี้แน่นอน
[466] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ข้าพเจ้ายินดีในการบูชายัญ ปรารถนาที่จะบูชายัญ
แต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ ขอพระองค์โปรดตรัสสอนข้าพเจ้า
โปรดตรัสบอกสถานที่ที่การบูชายัญจะสำเร็จผล
ให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตั้งใจฟังเถิด เราจะ
แสดงธรรมแก่ท่าน”
[467] ท่านอย่าถามถึงชาติตระกูลเลย
จงถามเฉพาะธรรมที่ประพฤติเถิด
ไฟย่อมเกิดจากไม้
แม้ผู้ที่เกิดในสกุลต่ำก็สามารถเป็นมุนี
มีปัญญา กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ
เป็นบุรุษอาชาไนยได้
[468] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่พระทักขิไณยบุคคลผู้ฝึกตนจนบรรลุสัจจะ
สมบูรณ์ด้วยการฝึกอินทรีย์
ผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[469] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :606 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 4. สุนทริกภารทวาชสูตร
สำรวมตนเคร่งครัด เที่ยวไปอยู่
เหมือนกระสวยที่ไปตรง
[470] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[471] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลส มีสติอยู่ทุกเมื่อ
ละนามรูปที่ยึดถือว่าเป็นของเราได้แล้ว เที่ยวไปอยู่ในโลก
[472] ตถาคตละกามทั้งหลายได้
มีปกติครอบงำกามทั้งหลาย เที่ยวไป
รู้ที่สุดแห่งชาติและมรณะ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาดแล้ว
เป็นผู้เยือกเย็นเหมือนห้วงน้ำ ควรแก่เครื่องบูชา
[473] ตถาคตผู้เสมอพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
อยู่ห่างไกลจากบุคคลผู้ไม่เสมอทั้งหลาย มีปัญญาหาที่สุดมิได้
เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่แปดเปื้อน ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[474] ตถาคต ไม่มีมายา ไม่มีมานะ ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือสิ่งว่าเป็นของเรา
ไม่มีความหวัง กำจัดความโกรธ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาด
เป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาปได้แท้จริง
ละมลทินคือความโศกได้แล้ว ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :607 }