เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 2. ปธานสูตร
[441] ลาภ ความสรรเสริญ สักการะ และยศที่ได้มาที่ผิดๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ 9 ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่น เราเรียกว่าเสนากองที่ 10 ของท่าน
[442] มารเอ๋ย เสนาของท่านผู้มีธรรมดำนี้
มีปกติประหารสมณพราหมณ์
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า เอาชนะเสนามารได้แล้วย่อมได้รับสุข1
[443] แม้เรานี้ก็รักษาหญ้ามุงกระต่ายไว้
น่าติเตียน(ถ้า)ชีวิตของเรา(จะพ่ายแพ้)
เราตายเสียในสงครามประเสริฐกว่า
แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร
[444] สมณพราหมณ์บางพวกตกอยู่ในอำนาจเสนาของท่านแล้ว
ย่อมไม่ปรากฏเกียรติคุณ
และย่อมไม่รู้ทางที่เหล่าท่านผู้มีวัตรดีดำเนินไปอยู่
[445] เราได้เห็นมารขี่ช้างเป็นพาหนะ
นำเสนาออกมาโดยรอบทิศ
จึงเตรียมเผชิญหน้าเพื่อจะต่อสู้
โดยมั่นใจว่า มารอย่าหวังที่จะให้เราลุกจากที่
[446] ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่สามารถเอาชนะเสนาของท่านนั้นได้
แต่เราจะใช้ปัญญาเป็นอาวุธ
ทำลายเสนาท่านนั้นให้พินาศ
เหมือนคนใช้ก้อนหินทุบภาชนะดิน
ทั้งที่ยังไม่ได้เผาและที่เผาแล้วให้แตกไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/28/116, 146/277, ขุ.จู. (แปล) 30/47/198

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :600 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 2. ปธานสูตร
[447] เราจักเจริญสัมมาสังกัปปะให้เชี่ยวชาญ
และตั้งสติไว้อย่างมั่นคงแล้ว
เที่ยวจาริกแนะนำพร่ำสอนสาวกจำนวนมากไปทุกแว่นแคว้น
[448] สาวกผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น มีจิตมุ่งมั่น
ปฏิบัติตามคำสอนของเรา เป็นผู้หมดความปรารถนา
ก็จะเข้าถึงสถานที่ซึ่งเหล่าชนผู้ไปแล้ว ไม่เศร้าโศก
[449] (มารกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าได้สะกดรอยตามพระผู้มีพระภาคนานถึง 7 ปี
ก็ยังหาโอกาสที่จะทำลายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระสิริไม่ได้เลย
[450] กาตัวหนึ่งบินอยู่รอบ ๆ แท่นศิลา
ที่มีสีคล้ายมันข้น ด้วยคิดว่า
‘เรากำลังจะได้ของอ่อนนุ่มในสิ่งนี้
ความยินดีพอใจก็จะมีแก่เรา’
(แต่เมื่อไม่ได้ความพอใจ รู้ว่า ‘นี้คือแท่นศิลา’ จึงหลีกไป)1
[451] ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน ตั้งใจว่า
จะมารบกวนก่อความรำคาญพระทัย
ให้พระสมณโคดมเบื่อเสด็จลุกหนีไป
แต่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้รับความยินยอมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เกิดความท้อแท้จึงหลีกไป
[452] เมื่อมารนั้นกำลังเศร้าโศกมาก
พิณที่หนีบอยู่นั้นจึงตกลงจากรักแร้
ลำดับนั้น มารนั้นผู้เสียใจ
ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง
ปธานสูตรที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 ข้อความนี้แปลเติมตามนัยอรรถกถา (ขุ.สุ.อ. 2/449-451/214-215)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :601 }