เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 2. ปธานสูตร
[427] อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย
เห็นการออกบวชว่าเป็นทางเกษม
จะจาริกไปเพื่อบำเพ็ญเพียร
ใจของอาตมภาพ ยินดีในการบำเพ็ญเพียรนั้น
ปัพพัชชาสูตรที่ 1 จบ

2. ปธานสูตร
ว่าด้วยความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[428] เราตั้งจิตบำเพ็ญเพียร ขะมักเขม้น เพ่งพินิจอยู่
เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น
[429] มารได้เข้ามาหาพร้อมกับกล่าวถ้อยคำแสดงความเอ็นดูว่า
ท่านมีร่างกายผ่ายผอม มีผิวพรรณซูบซีด ใกล้จะตายอยู่แล้ว
[430] ท่านมีโอกาสตายถึง 1,000 ส่วน
โอกาสรอดชีวิตมีเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
ท่านเอ๋ย การที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นดีแล้ว
เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ ท่านก็จักบำเพ็ญบุญทั้งหลายได้
[431] ท่านประพฤติพรหมจรรย์1และบูชาไฟอยู่
ก็ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้มาก ท่านจักบำเพ็ญเพียรไปทำไม
[432] ทางเพื่อความเพียรดำเนินไปถึงยาก ทำได้ยาก
ยากยิ่งนักที่จะก่อผลสำเร็จ
มารได้ยืนกล่าวคาถาเหล่านี้อยู่ใกล้ ๆ เราผู้จะเป็นพุทธะ

เชิงอรรถ :
1 พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. 2/431/208)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :598 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 2. ปธานสูตร
[433] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบมารผู้กล่าวอย่างนั้นว่า
มารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของคนประมาท
ท่านมาที่นี้มีความประสงค์ใด
[434] เราไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย
ความจริง ท่านผู้เป็นมาร
ควรไปบอกแก่คนผู้ต้องการบุญ
[435] เพราะเหตุไร ท่านจึงเฝ้าเพียรถามเรา
ผู้มีทั้งศรัทธา ตบะ วิริยะ และปัญญา
ผู้มีจิตมุ่งมั่น มีความเป็นอยู่อย่างนี้
[436] กระแสแม่น้ำทุกสาย ลมนี้สามารถพัดให้เหือดแห้งได้
แต่ว่าเลือดของเราผู้มีจิตมุ่งมั่นไม่เหือดแห้งไปแม้สักหยดเลย
[437] เมื่อเลือดกำลังเหือดแห้งไป ดี เสลดก็กำลังเหือดแห้งไปด้วย
และเมื่อเนื้อกำลังจะหมดสิ้นไป แต่จิตของเราก็ยิ่งผ่องใส
สติ และปัญญาก็ผ่องใส สมาธิของเราก็ยิ่งตั้งมั่นขึ้นไปอีก
[438] เรานั้นถึงจะได้รับทุกขเวทนาอันแรงกล้าอยู่อย่างนี้
จิตก็หาได้หวนคนึงถึงกามทั้งหลายไม่
ท่านจงคอยดูภาวะที่เราเป็นสัตว์บริสุทธิ์
[439] กิเลสกามทั้งหลาย เราเรียกว่าเสนากองที่ 1 ของท่าน
ความไม่ยินดี เราเรียกว่าเสนากองที่ 2 ของท่าน
ความหิวกระหาย เราเรียกว่าเสนากองที่ 3 ของท่าน
ตัณหา(ความทะยานอยาก) เราเรียกว่าเสนากองที่ 4 ของท่าน
[440] ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
เราเรียกว่าเสนากองที่ 5 ของท่าน
ความกลัว เราเรียกว่าเสนากองที่ 6 ของท่าน
วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) เราเรียกว่าเสนากองที่ 7 ของท่าน
มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) และถัมภะ(ความหัวดื้อ)
เราเรียกว่าเสนากองที่ 8 ของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :599 }