เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
[406] อันดับต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้เข้าจำอุโบสถแต่เช้า
มีจิตเลื่อมใส เบิกบานใจอยู่เนือง ๆ มีปัญญาเข้าใจแจ้งชัด
ควรแจกจ่ายถวายข้าวน้ำแด่ภิกษุสงฆ์ตามสมควร
[407] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์นั้น
ควรบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาโดยชอบธรรม
ควรประกอบการค้าขายที่ชอบธรรม1
เป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่
ย่อมไปเกิดในหมู่เทพที่ชื่อว่าสยัมปภา2
ธัมมิกสูตรที่ 14 จบ
จูฬวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. รตนสูตร 2. อามคันธสูตร
3. หิริสูตร 4. มงคลสูตร
5. สูจิโลมสูตร 6. ธัมมจริยสูตร
7. พราหมณธัมมิกสูตร 8. นาวาสูตร
9. กิงสีลสูตร 10. อุฏฐานสูตร
11. ราหุลสูตร 12. วังคีสสูตร
13. สัมมาปริพพาชนียสูตร 14. ธัมมิกสูตร


เชิงอรรถ :
1 การค้าขายที่ชอบธรรม หมายถึงการค้าขายที่เว้นจากการค้าที่ไม่ชอบธรรม 5 อย่าง คือ (1) สัตถวณิชชา
(ค้าขายอาวุธ) (2) สัตตวณิชชา (ค้าขายมนุษย์) (3) มังสวณิชชา (ค้าขายเนื้อสัตว์) (4) มัชชวณิชชา
(ค้าขายน้ำเมา) (5) วิสวณิชชา (ค้าขายยาพิษ) (ขุ.สุ.อ. 2/407/200)
2 สยัมปภา หมายถึงหมู่เทวดาที่มีแสงสว่างในตัว มีอยู่ในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น (ขุ.สุ.อ. 2/407/200)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :594 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 1. ปัพพัชชาสูตร
3. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
1. ปัพพัชชาสูตร
ว่าด้วยการสรรเสริญการบรรพชา
(ท่านพระอานนท์เถระกล่าวสรรเสริญการบรรพชา ณ พระเชตวันดังนี้)
[408] ข้าพเจ้าจักสรรเสริญการบรรพชา
อย่างที่พระผู้มีพระภาค
ผู้มีพระจักษุทรงบรรพชา
และอย่างที่พระองค์ทรงพิจารณารอบคอบ
จึงพอพระทัยการบรรพชา
[409] พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าการอยู่ครองเรือนนี้
คับแคบ1 เป็นบ่อเกิดธุลีคือกิเลส
และทรงเห็นว่า การบรรพชาปลอดโปร่ง
จึงเสด็จออกบรรพชา
[410] พระพุทธองค์ครั้นบรรพชาแล้ว
ทรงเว้นบาปกรรมทางกายและละวจีทุจริตได้
ทรงชำระอาชีวะให้หมดจด
[411] พระพุทธองค์ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐทั่วพระวรกาย
เสด็จไปถึงกรุงราชคฤห์ คิริพพชนคร2 แคว้นมคธ
ได้เสด็จเที่ยวไปเพื่อทรงบิณฑบาต

เชิงอรรถ :
1 คับแคบ หมายถึงหมดโอกาสบำเพ็ญกุศล เพราะถูกรบกวนด้วยบุตรภรรยา และถูกรบกวนด้วยกิเลส (ขุ.สุ.อ.
2/409/201)
2 คำว่า “คิริพพชนคร” คือ ชื่อของกรุงราชคฤห์นั่นเอง ที่มีชื่อว่า คิริพพชนคร เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างภูเขา
5 ลูก คือ (1) ภูเขาปัณฑวะ (2) ภูเขาคิชฌกูฏ (3) ภูเขาเวภาระ (4) ภูเขาอิสิคิลิ (5) ภูเขาเวปุลละ ภูเขา
ทั้ง 5 ลูกนี้เป็นเสมือนรั้วหรือกำแพงล้อมรอบ (คิริ = ภูเขา + วช = รั้ว + นคร) (ขุ.สุ.อ. 2/411/202)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :595 }