เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 14. ธัมมิกสูตร
[389] ภิกษุไม่ควรออกเที่ยวไปในเวลาวิกาล
แต่ควรเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านตามเวลา
เพราะว่าภิกษุผู้ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
กิเลสเครื่องข้อง1จะครอบงำ
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
[390] ภิกษุควรกำจัดความพอใจในกามคุณ 5 เหล่านี้ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่ทำให้เหล่าสัตว์หลงมัวเมา
เข้าไปยังโอกาสที่จะพึงบริโภคอาหารในเวลาเช้า ตามกาล
[391] อนึ่ง ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตมาฉันภายในเวลาแล้ว
ควรกลับไปนั่งในที่สงัดตามลำพัง
ควบคุมอัตภาพคือจิตได้อย่างมั่นคงแล้ว
กำหนดจิตพิจารณาอารมณ์ภายใน
ไม่ปล่อยจิตไปในอารมณ์ภายนอก
[392] ถ้าแม้ภิกษุนั้นจำเป็นจะต้องสนทนากับสาวกอื่น ๆ
หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ควรสนทนาธรรมที่ประณีต2นั้น
ไม่ควรกล่าวคำสอนส่อเสียดกระทบว่าร้ายผู้อื่น
[393] มีคนพวกหนึ่งชอบกล่าววาทะโต้เถียงกัน
เราไม่สรรเสริญคนพวกนั้นผู้มีปัญญาน้อย
เพราะกิเลสเครื่องข้องที่เกิดจากการกล่าววาจาโตัเถียงกันนั้น
จะครอบงำคนพวกนั้น เพราะพวกเขา (เมื่อโต้เถียงกัน)
ย่อมทำจิตให้ไกลจากการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 หน้า 149 ในเล่มนี้
2 ธรรมที่ประณีต หมายถึงกถาวัตถุ 10 ประการ (ขุ.สุ.อ. 2/392/195)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :591 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 14. ธัมมิกสูตร
[394] สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรมที่พระสุคตพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
พิจารณาอาหารบิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดแล้วจึงใช้สอยปัจจัย
[395] เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงไม่ควรเป็นผู้ยึดติดในสิ่งเหล่านี้
คือ อาหารบิณฑบาต ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดนี้
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น
[396] ต่อไปนี้ เราจะบอกข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์แก่พวกเธอ
คือสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ประพฤติอย่างไร
จึงยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
จริงอยู่ สาวกที่ยังมีความหวงแหนในไร่นาเป็นต้น
ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมของภิกษุล้วน ๆ ได้
[397] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และที่มั่นคงในโลกแล้ว
ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ฆ่า
[398] จากนั้น สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ รู้อยู่
ควรงดเว้นการถือเอาสิ่งของต่าง ๆ ในทุกหนทุกแห่ง ที่เจ้าของมิได้ให้
คือ ไม่พึงลักเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ลัก
พึงงดเว้นการถือเอาสิ่งของทั้งปวงที่เจ้าของมิได้ให้โดยเด็ดขาด
[399] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้เข้าใจชัดแจ้ง
ควรงดเว้นพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์
เหมือนคนเดินหลีกหลุมถ่านเพลิงที่มีไฟลุกโชน ฉะนั้น
แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้
ก็ไม่ควรล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น
[400] สาวกผู้อยู่ในที่ประชุม หรือในที่สาธารณชน
และอยู่กับคนคนเดียว ไม่ควรพูดเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :592 }