เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 7. อรหันตวรรค 8. สารีปุตตเถรวัตถุ
6. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[95] ภิกษุผู้คงที่ มีวัตรงาม
ไม่ยินดียินร้าย เสมอด้วยแผ่นดิน
เปรียบด้วยเสาเขื่อน
(มีใจผ่องใส) เหมือนห้วงน้ำไร้เปือกตม
สังสารวัฏย่อมไม่มีแก่ผู้เช่นนั้น

7. โกสัมพีวาสีติสสเถรสามเณรวัตถุ
เรื่องสามเณรของพระติสสเถระชาวเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระชาวเมืองโกสัมพี ดังนี้)
[96] ผู้หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ ผู้สงบ ผู้คงที่
ย่อมมีมโนกรรมที่สงบ วจีกรรมที่สงบ กายกรรมที่สงบ

8. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ในป่า 30 รูป ดังนี้)
[97] นรชนใด ผู้ไม่ต้องเชื่อใคร1
รู้จักนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้

เชิงอรรถ :
1 ไม่ต้องเชื่อใคร ในที่นี้หมายถึงรู้แจ้งธรรมอย่างประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ไม่ต้องรอสดับธรรมจากผู้อื่น (ขุ.ม.อ.
88/339-341)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :59 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 7. อรหันตรรค 10. อัญญตริตถีวัตถุ
ตัดรอยต่อ1แห่งการเกิดใหม่
ทำลายโอกาส2 แห่งการท่องเที่ยวไปในสงสาร
คายความหวังแล้ว นรชนนั้นแล เป็นบุรุษสูงสุด3

9. ขทิรวนิยเรวตเถรวัตถุ
เรื่องพระเรวตเถระผู้อยู่ในป่าไม้ตะเคียน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขามิคารมาตา ดังนี้)
[98] พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่สถานที่ใด
คือ จะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
สถานที่นั้น เป็นรมณียสถาน4

10. อัญญตริตถีวัตถุ
เรื่องหญิงคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[99] ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย
จะยินดีป่าทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์
ที่ชนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
เพราะท่านเหล่านั้นไม่แสวงหากาม5
อรหันตวรรคที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 รอยต่อ หมายถึงวัฏฏสนธิ (รอยต่อคือวัฏฏะ) สังสารสนธิ (รอยต่อคือสงสาร) (ขุ.ธ.อ. 4/8/66)
2 ทำลายโอกาส หมายถึงทำลายโอกาสที่จะเกิดอีกได้ เพราะสิ้นเชื้อพันธุ์คือกุศลกรรมและอกุศลกรรม
(ขุ.ธ.อ. 4/66)
3 ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) 29/88/275
4 ในคาถานี้มีนัยว่า แม้ในหมู่บ้านจะหาความสงบกายไม่ได้ก็จริง แต่พระอรหันต์ทั้งหลายก็ได้ความสงบใจ
เพราะอารมณ์ทั้งหลายหาทำจิตของท่านให้หวั่นไหวได้ไม่ ดังนั้น ที่ไหนก็ตามย่อมเป็นที่พระอรหันต์อยู่ได้
และที่นั้นย่อมเป็นสถานที่รื่นรมย์ (ขุ.ธ.อ. 4/72) และดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/991/502
5 ขุ.เถร. (แปล) 26/992/502

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :60 }