เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 14. ธัมมิกสูตร
ของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่มีใครที่เล็งเห็นประโยชน์ได้สุขุมลุ่มลึกเท่ากับพระองค์
บัณฑิตทั้งหลายพากันขนานนามพระองค์ว่า
เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[381] พระองค์ผู้ทรงรู้แจ้งเญยยธรรม ทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์
ได้ทรงประกาศพระญาณและธรรมทั้งปวง
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
พระองค์ไม่มีกิเลสดุจเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ทรงปราศจากมลทิน รุ่งเรืองอยู่ในโลกทั้งปวง
[382] พญาช้างเอราวัณ1ทราบว่าพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ทรงชนะบาปธรรมได้แล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ
พญาช้างแม้นั้นได้ปรึกษาทูลถามปัญหากับพระองค์
ฟังคำพยากรณ์แล้ว ได้บรรลุธรรม
มีความยินดีเปล่งสาธุการแล้วจากไป
[383] ถึงแม้ท้าวเวสวัณ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ท้าวกุเวร
ก็ยังเสด็จเข้ามาเฝ้ากราบทูลถามปัญหาธรรม
พระองค์แม้ถูกท้าวเวสวัณนั้นทูลถาม
ก็ยังตรัสตอบจนท้าวเธอสดับแล้วมีความชื่นชมยินดีจากไป
[384] ชนต่างๆเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพวกเดียรถีย์อาชีวกหรือนิครนถ์
ผู้ชอบกล่าวยกตนข่มผู้อื่นทั้งหมด
ย่อมไม่เกินเหนือพระองค์ด้วยปัญญา
เหมือนคนที่หยุดอยู่ ไม่ทันคนที่เดินเร็วและไม่หยุด ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ช้างเอราวัณ หมายถึงเทพบุตรชื่อเอราวัณเนรมิตกายเป็นพญาช้าง (ขุ.สุ.อ. 2/378/188)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :589 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 14. ธัมมิกสูตร
[385] พวกพราหมณ์ผู้เฒ่า
ที่มีปกติกล่าววาทะเหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ดี
และพราหมณ์เหล่าอื่นที่สำคัญอยู่ว่า
เราทั้งหลายผู้มีปกติทำวาทะก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนแต่ได้รับประโยชน์จากพระองค์
[386] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ธรรมนี้1ที่พระองค์ทรงแสดงอย่างดีละเอียด
และก่อให้เกิดสุขอย่างแท้จริง
ข้าพระองค์ทั้งหมดตั้งใจฟังธรรมนั้น
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหา
ที่พวกข้าพระองค์ทูลถามแล้วด้วยเถิด
[387] ภิกษุพร้อมทั้งอุบาสกนี้ทั้งหมด
ผู้นั่งประชุมกัน ณ ที่นี้ เพื่อต้องการจะฟัง
จะตั้งใจฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงปราศจากมลทินตรัสรู้แล้ว
เหมือนทวยเทพต่างตั้งใจฟังสุภาษิตของท้าววาสวะ ฉะนั้น
[388] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเรา
เราจะให้เธอได้สดับธรรมคือข้อปฏิบัติกำจัดกิเลส
และขอพวกเธอทั้งหมดจงประพฤติธรรมนั้น
ภิกษุผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นประโยชน์
ควรปฏิบัติตนอยู่ทุกอิริยาบถที่สมควรแก่บรรพชิต

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ (ขุ.สุ.อ. 2/386/193)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :590 }