เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 14. ธัมมิกสูตร
[378] (พระพุทธเนรมิตทูลสรุปดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ที่พระองค์ตรัสมาทั้งหมดนั้นถูกต้องทีเดียว
ภิกษุใดมีความประพฤติเช่นนี้อยู่ประจำ
ฝึกฝนตนแล้ว เป็นผู้ข้ามสังโยชน์และโยคะทั้งปวงได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
สัมมาปริพพาชนียสูตรที่ 13 จบ

14. ธัมมิกสูตร
ว่าด้วยพระพุทธพจน์ตรัสโปรดธัมมิกอุบาสก
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ธัมมิกอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก 500 คน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
ด้วยคาถาว่า
[379] ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า
บรรดาสาวกที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
กับสาวกที่เป็นอุบาสกอยู่ครองเรือนนั้น
สาวกที่ปฏิบัติตนอย่างไร จึงชื่อว่า เป็นสาวกที่ดี
[380] พระองค์เท่านั้นทรงทราบชัดคติ1
และความข้ามพ้นไปจากคติ

เชิงอรรถ :
1 คติ หมายถึงการไปหรือภพที่สัตว์ไปเกิด มี 5 คือ (1) นรก (2) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (3) แดนเปรต
(4) มนุษย์ (5) เทพ (ขุ.สุ.อ. 2/380/188)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :588 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 14. ธัมมิกสูตร
ของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่มีใครที่เล็งเห็นประโยชน์ได้สุขุมลุ่มลึกเท่ากับพระองค์
บัณฑิตทั้งหลายพากันขนานนามพระองค์ว่า
เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[381] พระองค์ผู้ทรงรู้แจ้งเญยยธรรม ทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์
ได้ทรงประกาศพระญาณและธรรมทั้งปวง
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
พระองค์ไม่มีกิเลสดุจเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ทรงปราศจากมลทิน รุ่งเรืองอยู่ในโลกทั้งปวง
[382] พญาช้างเอราวัณ1ทราบว่าพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ทรงชนะบาปธรรมได้แล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ
พญาช้างแม้นั้นได้ปรึกษาทูลถามปัญหากับพระองค์
ฟังคำพยากรณ์แล้ว ได้บรรลุธรรม
มีความยินดีเปล่งสาธุการแล้วจากไป
[383] ถึงแม้ท้าวเวสวัณ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ท้าวกุเวร
ก็ยังเสด็จเข้ามาเฝ้ากราบทูลถามปัญหาธรรม
พระองค์แม้ถูกท้าวเวสวัณนั้นทูลถาม
ก็ยังตรัสตอบจนท้าวเธอสดับแล้วมีความชื่นชมยินดีจากไป
[384] ชนต่างๆเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพวกเดียรถีย์อาชีวกหรือนิครนถ์
ผู้ชอบกล่าวยกตนข่มผู้อื่นทั้งหมด
ย่อมไม่เกินเหนือพระองค์ด้วยปัญญา
เหมือนคนที่หยุดอยู่ ไม่ทันคนที่เดินเร็วและไม่หยุด ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
1 ช้างเอราวัณ หมายถึงเทพบุตรชื่อเอราวัณเนรมิตกายเป็นพญาช้าง (ขุ.สุ.อ. 2/378/188)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :589 }