เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 13. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[374] ภิกษุมีศรัทธามั่นคง เป็นผู้ได้สดับอย่างดี
เห็นทางปฏิบัติอันถูกต้อง เป็นนักปราชญ์
ผู้ไม่คล้อยตามไปในฝักฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ
ขจัดโลภะ โทสะคือความขุ่นเคืองใจได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[375] ภิกษุเอาชนะกิเลสได้ด้วยอรหัตตมรรคที่หมดจดดี
ไม่มีกิเลสเครื่องปิดบัง เชี่ยวชาญในธรรมทั้งหลาย1
เป็นผู้ถึงฝั่ง หมดตัณหาอันทำให้หวั่นไหว
มีความฉลาดในญาณเป็นที่ดับสังขาร
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[376] ภิกษุล่วงพ้นความกำหนดที่ถือว่าเป็นของเรา
ในเบญจขันธ์ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต
มีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นผู้หลุดพ้นจากอายตนะทั้งปวงได้เด็ดขาด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[377] ภิกษุรู้แจ้งสภาวะที่ควรเข้าถึง จนได้บรรลุธรรม
เห็นการละอาสวะทั้งหลายเป็นวิวฏะ2
ไม่ติดข้องอยู่ในภพไหน ๆ
เพราะอุปธิทั้งปวงหมดสิ้นไปแล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงอริยสัจ 4 (ขุ.สุ.อ. 2/375/185)
2 วิวฏะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. 2/377/186)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :587 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 14. ธัมมิกสูตร
[378] (พระพุทธเนรมิตทูลสรุปดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ที่พระองค์ตรัสมาทั้งหมดนั้นถูกต้องทีเดียว
ภิกษุใดมีความประพฤติเช่นนี้อยู่ประจำ
ฝึกฝนตนแล้ว เป็นผู้ข้ามสังโยชน์และโยคะทั้งปวงได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
สัมมาปริพพาชนียสูตรที่ 13 จบ

14. ธัมมิกสูตร
ว่าด้วยพระพุทธพจน์ตรัสโปรดธัมมิกอุบาสก
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ธัมมิกอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก 500 คน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
ด้วยคาถาว่า
[379] ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า
บรรดาสาวกที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
กับสาวกที่เป็นอุบาสกอยู่ครองเรือนนั้น
สาวกที่ปฏิบัติตนอย่างไร จึงชื่อว่า เป็นสาวกที่ดี
[380] พระองค์เท่านั้นทรงทราบชัดคติ1
และความข้ามพ้นไปจากคติ

เชิงอรรถ :
1 คติ หมายถึงการไปหรือภพที่สัตว์ไปเกิด มี 5 คือ (1) นรก (2) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (3) แดนเปรต
(4) มนุษย์ (5) เทพ (ขุ.สุ.อ. 2/380/188)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :588 }