เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 12. วังคีสสูตร
[352] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความเพียร
นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นผู้ทำแสงสว่าง1ให้เกิด
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าใจพระองค์ว่า
ทรงทำแสงสว่างให้เกิดเป็นแม่นมั่น
ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ว่า พระองค์ทรงเห็นธรรมทั้งปวง
ได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้พากันมาเฝ้า
ขอพระองค์โปรดประกาศพระนิโครธกัปปเถระ
แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่ประชุมนี้ด้วยเถิด
[353] พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาอย่างไพเราะจับใจ
ทั้งทรงเปล่งด้วยพระสุรเสียงกังวาลที่เกิดแต่พระนาสิก
ที่บุญญาธิการตกแต่งมาดีแล้ว ได้อย่างคล่องแคล่วแผ่วเบา
เหมือนพญาหงส์ทองโก่งคอขันเบา ๆ อย่างไพเราะ
ข้าพระองค์ทุกรูปตั้งใจแน่วแน่
ขอฟังพระดำรัสที่ไพเราะของพระองค์
[354] ข้าพระองค์จะเปิดเผยความเกิดและความตาย
ที่ละได้อย่างสิ้นเชิง
จะแสดงบอกบาปธรรมซึ่งเป็นตัวกำจัด
เพราะบรรดาปุถุชนทั้งหลาย
บุคคลผู้ที่ทำได้ตามความพอใจตนไม่มี
แต่คนที่ไตร่ตรองพิจารณาตามพระตถาคตเท่านั้น
สามารถที่จะรู้หรือกล่าวธรรมอย่างที่ตนต้องการได้
[355] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก
พระองค์ผู้ทรงมีพระปัญญารุ่งเรือง
ได้ตรัสไวยากรณ์ที่สมบูรณ์ไว้อย่างถูกต้องแล้ว
ข้าพระองค์ขอถวายอัญชลีกรรมอย่างนอบน้อม

เชิงอรรถ :
1 แสงสว่าง ในที่นี้หมายถึงปัญญา (ขุ.สุ.อ. 2/352/167)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :582 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 12. วังคีสสูตร
พระองค์ทรงทราบคติของพระนิโครธกัปปเถระ
โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย
[356] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ทรงรู้แจ้งอริยธรรม1ทั้งที่เป็นโลกุตตระและโลกิยะ
ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด
โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย
ข้าพระองค์หวังพระดำรัสของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
เหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาในฤดูร้อนต้องการน้ำเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น
ขอพระองค์โปรดเปล่งสัททายตนะคือสุตะเถิด
[357] พระนิโครธกัปปเถระประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นของท่าน ไม่สูญเปล่าหรือ
ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังเรื่องนั้น
[358] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นิโครธกัปปเถระนั้นได้ตัดขาดตัณหาในนามรูปนี้
ทั้งตัดกระแสแห่งธรรมฝ่ายดำ
ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านาน
ข้ามพ้นชาติและมรณะได้อย่างสิ้นเชิง
พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐด้วยพลธรรม 5 ประการ2
ได้ตรัสไว้ดังนี้

เชิงอรรถ :
1 อริยธรรม หมายถึงอริยสัจ 4 (ขุ.สุ.อ. 2/356/168)
2 พลธรรม 5 ประการ คือ (1) สัทธา(ความเชื่อ) (2) วิริยะ(ความเพียร) (3) สติ(ความระลึกได้) (4) สมาธิ
(ความตั้งจิตมั่น) (5) ปัญญา(ความรู้ทั่ว) อนึ่ง คำว่า “พระผู้มีพระภาค” ในคาถานี้เป็นคำกล่าวของพระ
สังคีติกาจารย์ (ขุ.สุ.อ. 2/358/169)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :583 }