เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 12. วังคีสสูตร
12. วังคีสสูตร1
ว่าด้วยพุทธพจน์ตรัสแก้ความสงสัยของพระวังคีสะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี
สมัยนั้น พระนิโครธกัปปเถระซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระวังคีสะเพิ่งจะปรินิพพาน
ที่อัคคาฬวเจดีย์ไม่นาน ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ2ได้เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า “พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้นถึงเวลาเย็น ท่านพระวังคีสะจึงออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับได้เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ‘พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะก็ลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไป
ทางพระผู้มีพระภาคแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[346] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดา
ผู้มีพระปัญญามากว่า
ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ3
ตัดความสงสัย ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี้
ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/1272-1287/546-549
2 หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ หมายถึงหลีกออกจากหมู่คณะอยู่สงบกาย และอยู่สงบจิตจากอารมณ์นั้น ๆ (ขุ.สุ.อ.
2/346/164)
3 เรืองยศ ในที่นี้หมายถึงเพียบพร้อมด้วยลาภและบริวาร (ขุ.สุ.อ. 2/346/165)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :580 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 12. วังคีสสูตร
[347] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นธรรมอันมั่นคง
ภิกษุนั้นเป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิด
มีนามที่พระองค์ทรงประทานให้ว่า ‘นิโครธกัปปะ’
ท่านเที่ยวนอบน้อม มุ่งหวังความหลุดพ้น ปรารภความเพียร
[348] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าศากยะ ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ทุกรูปปรารถนาจะทราบถึงพระสาวกรูปนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายพร้อมที่จะเงี่ยโสตฟัง
พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม
[349] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ขอพระองค์โปรดขจัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย
โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระ
ผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ให้ข้าพระองค์ทราบด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
เหมือนท้าวสักกะผู้มีพระเนตรตั้งพันตรัสบอกแก่เหล่าเทวดา
[350] กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้
เป็นทางก่อให้เกิดความลุ่มหลง เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้
เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลงสงสัย
กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้นพอมาถึงพระตถาคตผู้มีพระจักษุ
มีพระคุณยิ่งกว่านรชนทั้งหลายนี้แล ย่อมหมดไป
[351] ถ้าพระผู้มีพระภาคจะเป็นเพียงบุรุษธรรมดา
ก็จะไม่ทรงทำลายกิเลสได้
เหมือนลมพัดทำลายก้อนเมฆที่หนาทึบไม่ได้ ฉะนั้น
โลกทั้งมวลที่มืดอยู่แล้วก็ยิ่งจะมืดหนักลง
นรชนทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น
ที่รุ่งเรืองอยู่บ้าง ก็จะไม่รุ่งเรืองนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :581 }