เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 10. อุฏฐานสูตร
10. อุฏฐานสูตร
ว่าด้วยการลุกขึ้นนั่งสมาธิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[334] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด1 จงนั่งเถิด2
ความหลับจะมีประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เร่าร้อนด้วยโรคคือกิเลสมีประการต่าง ๆ
ถูกลูกศรคือราคะเป็นต้นทิ่มแทงจนย่อยยับอยู่
[335] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด
จงบากบั่นขยันศึกษาปฏิบัติเพื่อบรรลุสันติธรรม3กันเถิด
อย่าให้มัจจุราชรู้ว่า เธอทั้งหลายมัวแต่ประมาทลุ่มหลง
แล้วบังคับให้หลงใหลอยู่ในอำนาจเลย
[336] เธอทั้งหลายจงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา
ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์
ผู้ยังมีความต้องการยึดติดอยู่
ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย4
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่

เชิงอรรถ :
1 จงลุกขึ้น หมายถึงลุกจากอาสนะ จงเพียรพยายามอย่าเกียจคร้าน (ขุ.สุ.อ. 2/334/153)
2 จงนั่ง หมายถึงนั่งคู้บัลลังก์ เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน (ขุ.สุ.อ. 2/334/153)
3 สันติธรรม มี 3 ประการ คือ (1) อัจจันตสันติ(ความสงบอย่างสิ้นเชิง) (2) ตทังคสันติ(ความสงบ
ด้วยองค์นั้น ๆ) (3) สัมมุติสันติ(ความสงบโดยสมมติ) แต่ในที่นี้หมายถึงอัจจันตสันติ กล่าวคือนิพพาน
(ขุ.สุ.อ. 2/335/154)
4 ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย ในที่นี้หมายถึงอย่าปล่อยให้โอกาสหรือเวลาแห่งการบำเพ็ญ
สมณธรรมผ่านไป (ขุ.สุ.อ. 2/336/155)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :577 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 11. ราหุลสูตร
[337] ความประมาทเป็นดุจธุลี
ความประมาทที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จัดเป็นดุจธุลี
กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตควรถอนลูกศรคือกิเลสของตน
ด้วยความไม่ประมาทและด้วยวิชชา
อุฏฐานสูตรที่ 10 จบ

11. ราหุลสูตร
ว่าด้วยพระพุทโธวาทที่ตรัสโปรดพระราหุล
[338] (พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระราหุลดังนี้)
เพราะความสนิทสนมกันเกินไป
เธอนึกดูหมิ่นบัณฑิต1บ้างหรือไม่
การชูคบเพลิงแก่มวลมนุษย์2
เธอยังใส่ใจนอบน้อมอยู่หรือไม่
[339] (ท่านพระราหุลทูลตอบดังนี้)
ถึงจะมีความสนิทสนมกันมากสักเพียงใด
ข้าพระองค์ก็ไม่เคยนึกดูหมิ่นบัณฑิตเลย
การชูคบเพลิงแก่มวลมนุษย์
ข้าพระองค์ก็ยังใส่ใจนอบน้อมอยู่เสมอ
[340] (พระผู้มีพระภาคตรัสโอวาทดังนี้)
เธอละกามคุณ 5 ซึ่งน่ารัก น่ารื่นรมย์ใจแล้ว
ออกจากเรือนบวชด้วยศรัทธา
จงทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด3

เชิงอรรถ :
1 บัณฑิต ในที่นี้พระผู้มีพระภาคตรัสหมายเอาพระสารีบุตร (ขุ.สุ.อ. 2/338/157)
2 การชูคบเพลิง ในที่นี้หมายถึงการแสดงธรรม (ขุ.สุ.อ. 2/338/157)
3 ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) 26/195/366

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :578 }