เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 9. กิงสีลสูตร
[331] การละความสนุกรื่นเริง การพูดกระซิบ
ความร่ำไรรำพัน ความโกรธง่าย
การหลอกลวงเสแสร้งทำความดี
ความยินดีในปัจจัย ความถือตัว
การชิงดีชิงเด่น ความหยาบคาย
และความหมกมุ่นอยู่ในกิเลสดุจน้ำฝาดย้อมใจ
ควรเป็นผู้ปราศจากความมัวเมา ดำรงสติมั่นคงอยู่
[332] นรชนใดเป็นผู้ประพฤติรีบด่วน1 เป็นผู้ประมาท
เพียงแต่รู้สุภาษิตอันเป็นสาระ
และได้สดับสมาธิอันเป็นสาระในธรรมที่รู้เท่านั้น
ปัญญาและสุตะย่อมไม่เจริญแก่นรชนนั้นเลย2
[333] ส่วนนรชนผู้ยินดีในธรรม3ที่พระอริยะประกาศแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนนอกนี้
ด้วยกาย วาจา และใจ
ดำรงมั่นอยู่ในสันติ โสรัจจะ และสมาธิ4
จึงได้บรรลุถึงธรรมอันเป็นสาระแห่งสุตะและปัญญา
กิงสีลสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ประพฤติรีบด่วน ในที่นี้หมายถึงไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ตกไปในอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. 2/332/150)
2 ความหมายในคาถานี้ คือ นรชนผู้ถูกราคะเป็นต้นครอบงำ ไม่พิจารณาไตร่ตรอง ประมาท ไม่บำเพ็ญ
เพียรอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับโอวาท ฟังสุภาษิตมากมายก็ตาม แต่ปัญญาของเขาก็ไม่เจริญ เพราะไม่รู้
ความหมาย และสุตะก็ไม่เจริญเพราะไม่มีการปฏิบัติตาม (ขุ.สุ.อ. 2/332/150)
3 ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมถวิปัสสนา (ขุ.สุ.อ. 2/333/151)
4 สันติ หมายถึงนิพพาน โสรัจจะ หมายถึงมัคคปัญญาอันมีนิพพานเป็นอารมณ์ สมาธิ หมายถึงมัคคสมาธิ
(ขุ.สุ.อ. 2/333/151)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :576 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 10. อุฏฐานสูตร
10. อุฏฐานสูตร
ว่าด้วยการลุกขึ้นนั่งสมาธิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[334] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด1 จงนั่งเถิด2
ความหลับจะมีประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เร่าร้อนด้วยโรคคือกิเลสมีประการต่าง ๆ
ถูกลูกศรคือราคะเป็นต้นทิ่มแทงจนย่อยยับอยู่
[335] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด
จงบากบั่นขยันศึกษาปฏิบัติเพื่อบรรลุสันติธรรม3กันเถิด
อย่าให้มัจจุราชรู้ว่า เธอทั้งหลายมัวแต่ประมาทลุ่มหลง
แล้วบังคับให้หลงใหลอยู่ในอำนาจเลย
[336] เธอทั้งหลายจงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา
ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์
ผู้ยังมีความต้องการยึดติดอยู่
ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย4
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่

เชิงอรรถ :
1 จงลุกขึ้น หมายถึงลุกจากอาสนะ จงเพียรพยายามอย่าเกียจคร้าน (ขุ.สุ.อ. 2/334/153)
2 จงนั่ง หมายถึงนั่งคู้บัลลังก์ เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน (ขุ.สุ.อ. 2/334/153)
3 สันติธรรม มี 3 ประการ คือ (1) อัจจันตสันติ(ความสงบอย่างสิ้นเชิง) (2) ตทังคสันติ(ความสงบ
ด้วยองค์นั้น ๆ) (3) สัมมุติสันติ(ความสงบโดยสมมติ) แต่ในที่นี้หมายถึงอัจจันตสันติ กล่าวคือนิพพาน
(ขุ.สุ.อ. 2/335/154)
4 ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย ในที่นี้หมายถึงอย่าปล่อยให้โอกาสหรือเวลาแห่งการบำเพ็ญ
สมณธรรมผ่านไป (ขุ.สุ.อ. 2/336/155)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :577 }