เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 8. นาวาสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณมหาศาลเหล่านั้นได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด
โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
พราหมณธัมมิกสูตรที่ 7 จบ

8. นาวาสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นดุจเรือข้ามฟาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[319] บุรุษควรบูชาสักการะบุคคลที่ตนเรียนรู้ธรรมจนเข้าใจ
เหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์ ฉะนั้น
บุคคลผู้เป็นพหูสูต ได้รับการบูชาจากศิษย์แล้ว
มีใจเอื้ออาทรในศิษย์นั้น
ย่อมอธิบายธรรมให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง
[320] บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาท
คบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น
ทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ้ง
แสดงธรรมแก่ผู้อื่นและเป็นผู้ละเอียด
[321] ผู้ที่คบบุคคลผู้มีคุณธรรมน้อย เป็นคนพาล
ยังไม่บรรลุประโยชน์ตน ทั้งยังมีใจริษยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :573 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 8.นาวาสูตร
ไม่เข้าใจธรรมในศาสนานี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง
ยังไม่ทันหมดความสงสัยก็สิ้นชีวิตไปก่อน
[322] เปรียบเหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก
กำลังหลากมา มีกระแสเชี่ยว
ถูกพัดลอยไปตามกระแสน้ำเสียเอง
จะสามารถช่วยพาผู้อื่นให้ข้ามไปได้อย่างไร ฉันใด
[323] บุคคลผู้ยังไม่เข้าใจธรรมอย่างแจ่มแจ้ง ก็ฉันนั้น
ไม่พิจารณาความหมายแห่งธรรมให้ถ่องแท้
ในสำนักอาจารย์ผู้เป็นพหูสูต
ตนเองยังไม่รู้แจ้งจริง ทั้งยังไม่หมดความสงสัย
จะสามารถสอนผู้อื่นให้เพ่งพินิจธรรมได้อย่างไร
[324] คนลงเรือที่มั่นคงแข็งแรง มีพายและถ่ออยู่พร้อม
เป็นผู้เฉลียวฉลาด รอบรู้ ชำนาญการเดินเรือนั้น
ย่อมสามารถพาผู้โดยสารจำนวนมากในเรือนั้น
ให้ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยปลอดภัย แม้ฉันใด
[325] ผู้บรรลุถึงความรู้แจ้ง อบรมตนแล้ว
เป็นพหูสูต มีสภาพจิตไม่หวั่นไหว ก็ฉันนั้น
สามารถสั่งสอนผู้อื่นที่ตั้งใจฟังและสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยให้เพ่งพินิจได้
[326] เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรคบสัตบุรุษ
ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต
บุคคลผู้คบหาสัตบุรุษนั้น รู้แจ้งชัดเนื้อความนั้นแล้วปฏิบัติอยู่
เป็นผู้เข้าใจธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง พึงได้รับความสุข
นาวาสูตรที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :574 }