เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 7. พราหมณธัมมิกสูตร
[313] เพราะการฆ่าโคบูชายัญนั้น เทวดา พระพรหม
พระอินทร์ อสูร และผีเสื้อสมุทร
ต่างเปล่งวาจาประณามมนุษย์ว่า
ไม่มีคุณธรรม เพราะมีดที่แทงแม่โค
[314] แต่ก่อนนั้นมีโรคร้ายอยู่เพียง 3 ชนิด คือ
โรคความอยาก โรคความหิว และโรคชรา
แต่เพราะการทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์
จึงทำให้แพร่โรคร้ายเพิ่มขึ้นถึง 98 ชนิด
[315] การทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์นี้
นับเป็นการลงทัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ไร้คุณธรรม มีมาแต่เดิมแล้ว
แม่โคนมทั้งหลายที่ไม่ทำร้ายเบียดเบียนใคร ๆ ต่างก็ถูกฆ่า
พวกบูชายัญก็เสื่อมจากธรรม
[316] ดังกล่าวมานี้ การฆ่าสัตว์บูชายัญนี้
เป็นธรรมเนียมที่ต่ำทราม
มีมาแต่โบราณ ถูกวิญญูชนติเตียน
คือวิญญูชนจะติเตียนคนที่ทำพิธีบูชายัญ
โดยวิธีนี้ในที่ทุกแห่งที่ตนเห็น
[317] เมื่อธรรมเนียมเก่าของพราหมณ์เสื่อมสูญไปอย่างนี้แล้ว
คนวรรณะศูทรและแพศย์ก็แตกแยกกัน
วรรณะกษัตริย์จำนวนมากก็แตกแยกกัน
ภรรยาก็ยังดูหมิ่นสามี
[318] กษัตริย์ พราหมณ์ พร้อมทั้งแพศย์และศูทร
ที่เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม
ที่ได้รับความคุ้มครองจากวงศ์ตระกูลของตน
ต่างไม่คำนึงถึงชาติชั้นวรรณะต่อไป
ล้วนตกอยู่ในอำนาจกามคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :572 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 8. นาวาสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณมหาศาลเหล่านั้นได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด
โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
พราหมณธัมมิกสูตรที่ 7 จบ

8. นาวาสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นดุจเรือข้ามฟาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[319] บุรุษควรบูชาสักการะบุคคลที่ตนเรียนรู้ธรรมจนเข้าใจ
เหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์ ฉะนั้น
บุคคลผู้เป็นพหูสูต ได้รับการบูชาจากศิษย์แล้ว
มีใจเอื้ออาทรในศิษย์นั้น
ย่อมอธิบายธรรมให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง
[320] บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาท
คบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น
ทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ้ง
แสดงธรรมแก่ผู้อื่นและเป็นผู้ละเอียด
[321] ผู้ที่คบบุคคลผู้มีคุณธรรมน้อย เป็นคนพาล
ยังไม่บรรลุประโยชน์ตน ทั้งยังมีใจริษยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :573 }