เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [2. จูฬวรรค] 7. พราหมณธัมมิกสูตร
[313] เพราะการฆ่าโคบูชายัญนั้น เทวดา พระพรหม
พระอินทร์ อสูร และผีเสื้อสมุทร
ต่างเปล่งวาจาประณามมนุษย์ว่า
ไม่มีคุณธรรม เพราะมีดที่แทงแม่โค
[314] แต่ก่อนนั้นมีโรคร้ายอยู่เพียง 3 ชนิด คือ
โรคความอยาก โรคความหิว และโรคชรา
แต่เพราะการทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์
จึงทำให้แพร่โรคร้ายเพิ่มขึ้นถึง 98 ชนิด
[315] การทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์นี้
นับเป็นการลงทัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ไร้คุณธรรม มีมาแต่เดิมแล้ว
แม่โคนมทั้งหลายที่ไม่ทำร้ายเบียดเบียนใคร ๆ ต่างก็ถูกฆ่า
พวกบูชายัญก็เสื่อมจากธรรม
[316] ดังกล่าวมานี้ การฆ่าสัตว์บูชายัญนี้
เป็นธรรมเนียมที่ต่ำทราม
มีมาแต่โบราณ ถูกวิญญูชนติเตียน
คือวิญญูชนจะติเตียนคนที่ทำพิธีบูชายัญ
โดยวิธีนี้ในที่ทุกแห่งที่ตนเห็น
[317] เมื่อธรรมเนียมเก่าของพราหมณ์เสื่อมสูญไปอย่างนี้แล้ว
คนวรรณะศูทรและแพศย์ก็แตกแยกกัน
วรรณะกษัตริย์จำนวนมากก็แตกแยกกัน
ภรรยาก็ยังดูหมิ่นสามี
[318] กษัตริย์ พราหมณ์ พร้อมทั้งแพศย์และศูทร
ที่เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม
ที่ได้รับความคุ้มครองจากวงศ์ตระกูลของตน
ต่างไม่คำนึงถึงชาติชั้นวรรณะต่อไป
ล้วนตกอยู่ในอำนาจกามคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :572 }